8 ก.พ.64- ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 2/2564 โดยมีนพ. โสภณ เมฆธน ผู้ช่วย รมต. สธ. นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ภาพรวมมีการบริหารจัดการได้ดี ควบคุมโรคได้แล้ว ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่บ้าง ในจังหวัดสมุทรสาคร ตาก และกทม. ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ อสม. และทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ และเอกชน ได้ร่วมมือกันทำงานอย่างหนัก ทั้งการลงพื้นที่สอบสวนโรคและควบคุมการระบาด วางแผนการจัดการกับสถานการณ์ระบาด จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพียงพอ และ Bubble and Sealed Factory-Accommodation Quarantine ในจังหวัดสมุทรสาคร ให้อยู่ในพื้นที่แยกผู้ติดเชื้อออกมารักษา ถือว่าสถานการณ์ควบคุมได้ รวมทั้ง ศบค.ได้ออกประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา หากการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคได้ผลดี มีผู้ติดเชื้อลดลงมาก กระทรวงสาธารณสุข จะได้เสนอมาตรการผ่อนคลายต่อ ศบค.เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลา ซึ่งทุกภาคส่วนยังต้องเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในวันนี้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้หารือถึงนโยบายการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะได้วัคซีนของบริษัทซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส และเดือนมิถุนายนมีวัคซีนที่สั่งซื้อจากบริษัทแอสตราเซนเนกา 26 ล้านโดส และที่จองเพิ่ม 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส ถือว่าครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย และได้วางแผนการบริหารจัดการการให้วัคซีนมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย มีคุณภาพให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ตามนโยบายรัฐบาล โดยได้แต่งตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีน ซึ่งมีการประชุมเตรียมการคณะทำงานทั้ง 6 คณะเป็นอย่างดี และได้เตรียมขั้นตอนการให้บริการวัคซีนโควิด 19 แก่ประชาชนอย่างเป็นระบบ
รมว.สธ. กล่าวต่อว่า คณะกรรมการได้เห็นชอบแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 พ.ศ.2564 ซึ่งมี 2 ระยะ โดยในระยะแรกที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19 รักษาระบบสุขภาพของประเทศ ฉีดให้ 5 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน, ประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งที่อยู่ในระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมหรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร, ประชาชนที่มีอายุ 60 ขึ้นไป เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย รวมทั้งประชาชนทั่วไปและแรงงานในพื้นที่ระบาดของโควิด 19 และระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ฉีดให้กับ 7 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนทั่วไป, แรงงานในภาคอุตสาหกรรม, ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์,ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ, นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ, กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 ในจังหวัดที่เหลือ และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่น ๆ
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบแผนการกระจายวัคซีนโควิด 19 ระยะแรก เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดที่ยังพบผู้ป่วย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และตาก ระยะที่ 2 เดือนมิถุนายนถึงธันวาคม 2564 จำนวน 61 ล้านโดส โดยมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนให้บริการกว่า 1,000 แห่ง วางแผนฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 63 ล้านโดส ภายในปี 2564
นายอนุทินกล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. โดยจัดตั้งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก เพิ่มอีก 1 แห่ง เป็นด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ด่านที่ 69 ของประเทศ เพื่อให้มีบุคลากรด้านการป้องกันควบคุมโรคปฏิบัติหน้าที่ประจำที่ด่านฯ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเดินทางผ่านเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก