ตั้งอยู่ในถนนเส้นบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลวัดชลอ หรือ หากไปทางน้ำต้องเดินจากท่าเรือเข้าไปประมาณ 200 เมตร เป็นวัดเก่าในสมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยกรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นสกุล เสนีวงศ์) พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง พระอุโบสถ ทำชายหลังคาของพาไลรอบพระอุโบสถแบบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หน้าบันสลักไม้รูปนารายณ์ ทรงครุฑลายกนกขมวดเกี่ยวพันกัน เบื้องหลังมีเทพพนมและยักษ์พนม ซุ้มประตูทางเข้าวัดทำเป็นหัวเม็ด เป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สูงขึ้นและเอนเข้าหากัน เพื่อเป็นการรับน้ำหนักของตัวอาคาร เสาใกล้จะถึงส่วนหลังกำแพงแก้วมีบัวหงายรองรับอีกต่อหนึ่งแปลกตากว่าที่อื่น เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย สังเกตได้จากซุ้มเสมาทรงกลมตลอด ฐานของซุ้มก็ทรงกลมตัวซุ้มแหวะ เป็นช่องหน้าต่างสามช่อง ทรงยอดโค้งคล้ายซุ้มจระนำ หันหลังชนกันสามทิศ ข้างบนมียอดเล็ก ๆ ปั้นปูนลวดลายงดงาม รับกับบัวยอดซุ้มและแข้งสิงห์เบื้องล่าง ศิลปะรูปปั้นงามนี้เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายลักษณะลวดลายบ่งชัดว่าเป็นฝีมือช่างสมัยพระบรมโกศ ใบเสมาเป็นหินทรายทำรูปหัวนาคออกสองข้างเอวเสมาเหมือนกันแต่ทรงด้านบนอวบอ้วน ใบเสมาแบบนี้อายุเก่ากว่าใบเสมาสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ใบเสมาช่วงหลังจะทรงเพรียวกว่า มีเจดีย์ทิศล้อมรอบตัวพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน ซุ้มบันแถลงประดับกรอบประตูหน้าต่างทำจากปูนน้ำอ้อย บานประตูพระอุโบสถทั้งหน้าและหลังมีด้านละสองบาน ปั้นปูนซุ้มประตูเป็นรูปฤาษีพนมและบางซุ้มก็ทำรูปเทวดารำอยู่กลางซุ้ม เข้าใจว่าเป็นฝีมือปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 บานประตูเขียนลายทองรูปกนกใบเทศลายละเอียดมาก บนหน้าต่างก็เขียนลายทอง คือเป็นลายรดน้ำเช่นเดียวกับประตู ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมแป้งสาคูเปียกฝีมือช่างสกุลนนทบุรี ภาพระหว่างช่องหน้าต่างเขียนรูปปริศนาธรรม ผนังด้านซ้ายพระประธาน เขียนรูปพระปลงกัมมัฏฐานในลักษณะหลายแบบหลายวิธี ผนังด้านหน้าเขียนรูปพุทธประวัติแสดงถึงพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของพระพุทธองค์ พระพุทธรูปในพระอุโบสถ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่หน้าพระอุโบสถยังมีรูปสลักหินทำจากเมืองจีน คล้ายเป็นรูปยักษ์รักษาวัด ตนหนึ่งหน้าดุอีกตนหนึ่งหน้ายิ้ม มือถือกระบองด้วยกันทั้งคู่เป็นศิลปะอันงดงามเป็นของประจำวัด ซึ่งตามวัดในอาณาบริเวณแถบนี้ไม่มีภาพสลักชนิดนี้ หอระฆังวัดโพธิ์บางโอ หอระฆังที่วัดนี้เป็นสกุลช่างเมืองนนทบุรีทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชชนนีเป็นสกุลฝ่ายเมืองนนทบุรี จึงทรงอุปการะการสร้างวัดในเขตนนทบุรี แบบมณฑปยอดเจดีย์ผสมกันระหว่างหอสูงรูปสี่เหลี่ยมและเจดีย์ย่อมุม