กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีมีผู้โพสต์ผ่านทางสื่อออนไลน์ว่า “เขื่อนเจ้าพระยาเปิดประตูระบายน้ำทุกบานแล้ว อีก 1 สัปดาห์จะถึงเมืองนนท์ คาด กทม. ไม่น่ารอด..เตรียมป้องกันล่วงหน้าด้วย” นั้น เป็นข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
วันที่ 21 กันยายน 2454 นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ปัจจุบัน(21 ก.ย. 64 เวลา 12.00 น.) ได้ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านลงสู่พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,524 ลบ.ม./วินาที จะไม่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ และ อ.บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตลิ่งต่ำและอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่า ในวันพรุ่งนี้(22 ก.ย. 64) เวลาประมาณ 06.00 น. ระดับน้ำจะสูงขึ้นเพียง 0.25 เมตร จากระดับน้ำปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำจะได้รับผลกระทบก็ต่อเมื่อมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในอัตรา 2,500 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบัน(21 ก.ย. 64) สถานีบางไทรมีปริมาณน้ำไหลผ่านเพียง 1,547 ลบ.ม./วินาที เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา ณ วันที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 12.00 น. มีเพียง 1,524 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับปริมาณน้ำทางตอนบนบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ เวลา 12.00 น. มีน้ำไหลผ่านเพียง 1,956 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับกรุงเทพมหานคร จะเริ่มได้รับผลกระทบเมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านที่สถานี C.29A อำเภอบางไทร ในอัตรา 3,500 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป ในส่วนของกรณีที่มีการเปิดบานระบายทุกช่องของเขื่อนเจ้าพระยา นั้น เป็นไปตามหลักการด้านชลศาสตร์ในการระบายน้ำ เพื่อป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ด้านท้ายของอาคารเขื่อนเจ้าพระยา เป็นการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของเขื่อน ซึ่งกรมชลประทานขอยืนยันว่า ปริมาณน้ำระบายลงสู่พื้นที่ด้านล่างอยู่ในเกณฑ์ 1,524 ลบ.ม./วินาที เท่านั้น จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานและความมั่นคงของเขื่อนเจ้าพระยา
“กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ก่อนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราตั้งแต่ 700 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป ได้มีการแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้จังหวัดและผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบรับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง “
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat