“Telemedicine” หรือ “การแพทย์ทางไกล” กลายเป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างสูง หลังจากโควิด-19 ได้บีบบังคับให้เราทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal
แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป โควิด-19 จะถูกปรับลดระดับความร้ายแรงลงมาเป็น “โรคติดต่อเฝ้าระวัง” และผู้ที่ติดเชื้อแบบอาการน้อยก็ไม่จำเป็นต้องกักตัว หากแต่ “Telemedicine” ก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อไป
วันนี้ “The Coverage” จะขออาสาพาทุกท่านพูดคุยกับ นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี ถึงเรื่องการนำเทคโนโลยี “Telemedicine” เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน รวมไปถึงบริการรับยาแบบ “Drive Thru” เพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ และทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกได้มากขึ้นอีกด้วย
นนทบุรีเป็นเขต ‘เมือง’ ผู้รับบริการอยากได้ ‘ความรวดเร็ว’
นพ.สฤษดิ์เดช ย้อนความให้เห็นภาพว่า จังหวัดนนทบุรีนั้นเป็นเขตเมือง และผู้รับบริการส่วนมากก็อยากได้บริการแบบรวดเร็ว สะดวกสบายไม่ต้องแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปี ใกล้เคียงกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีวิสัยทัศน์ที่อยากจะให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแล โดยคำนึงจากประสบการณ์การใช้บริการของผู้ป่วย เพราะอยากให้การทำงานของโรงพยาบาลตอบโจทย์ผู้รับบริการ
“ตามวิสัยทัศน์แล้วเราอยากใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว เพราะเรามองว่าเทคโนโลยีนั้นมาแล้ว แต่โควิดทำให้เห็นความเป็นไปได้มากขึ้น และสามารถดูแลประชาชนได้จริง เป็นการตอกย้ำสิ่งที่คิดว่ามาถูกทาง”
อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีเกิดขึ้นมาใกล้เคียงกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และถ้านับตามระดับของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีผู้ป่วยใน ซึ่งการเปิดโรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งใจให้เป็น “Super OPD” ที่มีเฉพาะผู้ป่วยนอก แต่ก็ยังมีบริการ “One Day Surgery (ODS)” หรือบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ หรือนอนค้างที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืนในกลุ่มที่ส่องกล้อง หรือผ่าตัดเล็ก
“เพราะว่าทางจังหวัดเองและกระทรวงสาธารณสุขก็ได้วิเคราะห์อยู่แล้ว ว่าในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีเราขาดบริการที่เป็นลักษณะของผู้ป่วยนอก และประชาชนเข้าถึงยากเพราะโรงพยาบาลอื่นๆ มีความแออัด”
ฉะนั้นแล้วโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีพยายามที่จะเปิดบริการสำหรับผู้ป่วยนอกที่ดูแลเฉพาะทาง ซึ่งเป็นจุดที่ถูกวางไว้ตั้งแต่เปิดโรงพยาบาล ทำให้ทิศทางดำเนินมาแบบนี้ตั้งแต่แรก ซึ่งก็ตอบโจทย์ช่องว่างของจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย
‘Product Champion’ และการใช้เทคโนโลยี ‘ตรวจสุขภาพ’
ปัจจุบันศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีจะมีอายุรแพทย์ แพทย์ศัลยกรรมกระดูก แพทย์หู คอ จมูก บริการทางทันตกรรม แพทย์กายภาพบำบัดในการให้บริการ ฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายหลักๆ จะเป็นผู้สูงอายุ และผู้ป่วยภาวะโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง รวมไปถึงกลุ่มที่ต้องได้รับการฟื้นฟู
สำหรับจุดเด่นของโรงพยาบาล จะมีตั้งแต่บริการทันตกรรมที่ครบครัน โดยมีทันตแพทย์คอยให้บริการอยู่ประมาณ 10 คน สามารถจัดฟัน ทำฟันหรือรากฟันเทียมได้ นอกจากนี้ยังมีบริการกายภาพบำบัด ซึ่งโรงพยาบาลมีทั้งแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและทีมนักกายภาพบำบัดที่มีอุปกรณ์ค่อนข้างครบ รวมไปถึงแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีนอีกด้วย
“เราคิดว่าเป็น Product Champion ของโรงพยาบาลอยู่ หมายความว่าคนจะนิยมมารับบริการที่เราเนื่องจากบริการเหล่านี้”
นอกจากนี้แล้ว “นพ.สฤษดิ์เดช” ยังมองไปถึงการใช้ Telemedicine เข้ามาช่วยเรื่องการตรวจสุขภาพอีกด้วย โดยจะเป็นการแจ้งผลและให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ทำให้ประชาชนไม่ต้องกลับมาที่โรงพยาบาลหากการตรวจสุขภาพไม่มีปัญหาใดๆ
อีกหนึ่งส่วนที่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้รับบริการ นั่นคือความ “ไม่แออัด” เนื่องจากโรงพยาบาลมีการจัดคิวนัดให้ “เหลื่อมเวลา” เป็นรอบ รอบละ 20-30 คน ยกเว้นผู้ป่วย Walk-in ทำให้บริการภายในโรงพยาบาลไม่หนาแน่นจนเกินไป ซึ่งตรงนี้เป็นทิศทางที่พยายามวางให้เป็นลักษณะของการนัดและพบแพทย์เฉพาะทาง หรือถ้าหากมีผู้ป่วย Walk-in เข้ามาก็จะมีห้องให้คำปรึกษาทั่วไปก่อน หากไม่มีแพทย์เฉพาะทางก็จะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมต่อไป
“ตัวโครงสร้างถูกออกแบบมาเพื่อรองรับทิศทาง คล้ายๆ Super OPD อยู่แล้ว หน้าตาของโรงพยาบาลก็จะแตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นนิดหน่อย ถ้าประชาชนทั่วไปไม่ได้ทราบมาก่อนเขาก็จะมองว่าเป็นเอกชน อันนี้ก็ถือว่าเป็นจุดแข็งของเราในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการ”
‘Telemedicine’ สามารถดูแลปัญหาของประชาชนได้
นพ.สฤษดิ์เดช ระบุว่า ใช้ Telemedicine ในการทำงานมาร่วม 2 ปี พบว่าสามารถดูแลสุขภาพ หรือปัญหาของประชาชนได้ครอบคลุมระดับหนึ่ง ฉะนั้นจึงมองเป็นโอกาสจากที่ได้มีการลงทุนจัดซื้ออุปกรณ์ หรือครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องนำมา “ต่อยอด” กับงานที่จะเกิดขึ้นในภาวะปัจจุบันได้
“ผมมองว่าการใช้เทคโนโลยีน่าจะไม่ง่ายนะ สำหรับบุคลากรและประชาชน ก็อย่างที่เรียนว่าโควิดช่วยให้เรามีโอกาสได้สัมผัสกับการดูแลผ่านเทคโนโลยี ทำให้น่าจะมีการยอมรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับบริการได้ดีขึ้น ผมเลยมองว่ามันง่ายกว่าที่คิด”
ขณะนี้ นพ.สฤษดิ์เดช ก็ได้วางแผนนำ Telemedicine เข้ามาใช้ใน 3 ส่วน ได้แก่ 1. โควิด-19 2. แจ้งผลตรวจสุขภาพออนไลน์ 3. ตรวจโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) ซึ่งจะเป็นการตรวจรักษาจากแพทย์โดยใช้เทคโนโลยี มีเจาะเลือดโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จากนั้นก็จะมีการส่งยาไปให้ผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้
“สำหรับบริการ Telemedicine จริงๆ เรามองว่าโรคใดที่ไม่จำเป็นต้องรับยาทันที หมายความว่าเป็นโรคเรื้อรังที่มียาอยู่แล้วที่ไม่จำเป็นต้องรอยา เขาอาจจะกลับก่อนและมารับยาของวันนั้นผ่านาน Drive Thru หรือว่าจะรับยาผ่านทางไปรษณีย์ก็ได้ ตรงนี้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะบางทีเราตรวจเสร็จเราอาจจะมีธุระ แล้วค่อยรอรับยาทีหลังก็ได้”
จัดบริการรับยาแบบ ‘Drive Thru’
ขณะเดียวกัน Telemedicine ยังได้เข้ามาอุดช่องว่าง “ปัญหาเรื่องที่จอดรถ” ด้วย เพราะโรงพยาบาลมีพื้นที่จอดรถค่อนข้างน้อย โดยจะจอดได้ไม่เกิน 200 คัน ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์กับผู้มารับบริการหากต้องมารอนานๆ ฉะนั้นจึงพยายามให้ประชาชนไม่ต้องมารับบริการที่โรงพยาบาล โดยยังจะได้รับบริการที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับการมารับบริการที่โรงพยาบาลมากที่สุด
ส่วนนี้หมายความว่า ผู้ป่วยสามารถพบแพทย์แบบออนไลน์ด้วยระบบ Telemedicine และเข้ามารับยาแบบ Drive Thru (ซึ่งจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และสแกน QR Code ก่อน) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และเปิดบริการเต็มรูปแบบเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยจะเริ่มจากผู้ป่วยโควิด-19 ก่อน หากรับยาแล้วหากมีข้อสงสัยเรื่องของการใช้ยาก็สามารถติดต่อ ปรึกษา สอบถามในระบบ หรือโทรสอบถามได้
นพ.สฤษดิ์เดช มองว่าในอนาคตอาจจะมีการขยายบริการไปยังผู้ป่วยกลุ่มโรคอื่นร่วมด้วย ซึ่งก็อาจจะต้องรอผลตอบก่อนว่าจะออกเป็นอย่างไร
“มองว่าการทำรูปแบบนี้ควรจะทำให้ครอบคลุมในพื้นที่เขตเมือง รวมไปถึงในต่างจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ เพราะว่าประชาชนก็จะได้รับบริการที่ดีขึ้น”
ในอนาคต ‘Telemedicine’ จะเข้ามาช่วย ‘บริการปฐมภูมิ’
นพ.สฤษดิ์เดช ระบุว่า อยากให้ Telemedicine เป็นส่วนเสริมที่ทำให้การดูแลในบางเรื่อง บางโรค หรือบางกรณีสะดวกขึ้น ส่วนนี้อาจจะต้องเข้าไปผนวกกับ “ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ” นั่นคือการมีแพทย์ประจำตัว และมีทีมที่อยู่ใกล้ชุมชนดูแล อย่างที่รู้กันในนาม “นโยบาย 3 หมอ”
เพื่อให้เห็นภาพ นั่นก็คือแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาล และเชื่อมโยงระบบไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการดูแลประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล รวมไปถึงใช้ในกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ซึ่งคิดว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการที่ขยายการใช้ Telemedicine เข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายตรงนี้ได้
“นโยบายสามหมอถ้าพูดลอยๆ จะดูจับต้องยาก แต่พอมี Telemedicine เข้ามา เราสามารถเชื่อมโยงได้จริง ก็ทำให้เห็นเลยว่าหมออาจจะไม่ต้องลงมาที่ รพ.สต. ทุกวันก็ได้ และก็สามารถให้คำแนะนำปรึกษาดูแลได้เลยที่ คิดว่าน่าจะเป็นทิศทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพในยุคต่อไปก็คือเน้นในการดูแลใกล้บ้าน ตรงนี้ก็จะมาเสริมให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ครบถ้วนผ่านเทคโนโลยี”