เตรียมรับมือ ปภ.แจ้ง 5 จังหวัดลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลพบุรี สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี เฝ้าระวังผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่ 8 ต.ค.เป็นต้นไป พื้นที่เสี่ยงริมน้ำจับตา 24 ตลอดชั่วโมง
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า จะมีปริมาณน้ำบ่าไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในช่วงระหว่างวันที่ 8-14 ตุลาคม 2565 รวมจำนวน 492.38 ล้านลูกบาศก์เมตร และวันที่ 14 ตุลาคม 2565 นี้ คาดการณ์ปริมาตรน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะมีจำนวน 1,030.61 ล้านลูกบาศก์เมตร
กรมชลประทานจะปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา 830 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ที่จะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 30-50 เซนติเมตร โดยปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจะส่งผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่างอัตรา 80-120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้แจ้งเน้นย้ำไปยัง 5 จังหวัดลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ให้เฝ้าระวังผลกระทบระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
โดยกำชับจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
รวมทั้งผู้ประกอบกิจการในแม่น้ำ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ผู้บังคับเรือโดยสาร/เรือโยงขนส่งสินค้าหรือวัสดุ ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ ตลอดจนแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ขอให้ติดตามประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”
หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่บริเวณพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก และอำเภอไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล อำเภอเสนา และอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10-0.15 เมตร รวมทั้งบริเวณตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดปทุมธานี, จังหวัดนนทบุรี, กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15-0.30 เมตร
“นายกรัฐมนตรีขอให้จังหวัดในพื้นที่ดังกล่าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรับมือในทุกด้าน เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ รวมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที ขณะเดียวกันให้มีการปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำน้ำเข้าคลองต่างๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด ตามศักยภาพคลองชลประทานในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาทและอุทัยธานี ให้เตรียมป้องกันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ และสิ่งสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้รับทราบล่วงหน้า เพื่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวสามารถเตรียมความพร้อมรับมือได้กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที” นายอนุชากล่าว
ที่สำนักงานเขตดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ได้มีการทำเส้นเลือดฝอยและดีขึ้นเยอะ ซึ่งปกติถนนประชาสุข ถนนประชาสงเคราะห์ เป็นจุดที่น้ำท่วมบ่อย แต่เมื่อมีการลอกท่อเป็นชุดแรกๆ ก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ให้สำนักการระบายน้ำดูภาพรวมในการปรับปรุงระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหา ฉะนั้นจุดอ่อนที่เจอคือ หลังหอการค้า ประชาสุขประชาสงเคราะห์ ในภาพรวมระยะยาวไม่กังวลเพราะอยู่ในแผนแล้ว สถานการณ์ดีขึ้น
ส่วนกรณีที่เข้าประชุมร่วมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ต.ค. เรื่องแผนจัดการน้ำ นายชัชชาติกล่าวว่า เรากังวลเรื่องการจัดการน้ำฝั่งตะวันออก เบื้องต้น กทม.เสนออุโมงค์ระบายน้ำจากลาดกระบังลงไปที่คลองร้อยคิว โดยมีเป้าหมายคือต้องการระบายน้ำ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงคิดว่าการระบายน้ำด้วยอุโมงค์น่าจะเร็วและไม่กระทบต่อประชาชน ซึ่งเราได้หารือกับกรมชลฯ ทางกรมชลฯ แนะนำว่าสามารถระบายออกได้เท่ากัน แต่ให้ระบายผ่านคลองประเวศบุรีรมย์ ออกไปทางแปดริ้ว คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต โดยทางกรมชลฯ จะรับผิดชอบในการทำคันให้ดีขึ้น ซึ่งหากกรมชลฯ ยืนยันว่าสามารถทำได้ในปริมาตรที่เท่ากัน และเขารู้สึกว่าทางนี้ดีกว่า เราก็ต้องฟังเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม กทม.ยืนยันว่าจะต้องมีทางระบายน้ำจากลาดกระบังได้เร็ว ไปในช่องทางอื่น นอกเหนือการระบายน้ำลงมาที่คลองพระโขนง
ทั้งนี้ ในที่ประชุม พล.อ.ประวิตรเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งอนุกรรมการชุดย่อยมากำกับดูแลเรื่องต่างๆ พล.อ.ประวิตรให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ เพราะได้ลงพื้นที่เขตมีนบุรีมาแล้ว โครงการต่าง ๆ ที่ กทม.เสนอไป พล.อ.ประวิตรก็รีบให้บรรจุแผนและเร่งดำเนินการ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นการคุยกันหลายหน่วยงาน ทั้งกรมชลฯ และจังหวัดต่างๆ ทำให้เห็นภาพรวมและร่วมกันวางแผนระยะยาว 20 ปี น่าจะปรับปรุงภาพรวมของการระบายน้ำได้ดีขึ้น.