นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องอย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย โดยโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน – บางบัวทอง หรือถนนกาญจนาภิเษก วงแหวนด้านตะวันตก เป็นหนึ่งในโครงการที่กรมทางหลวงเดินหน้าพัฒนา
สำหรับความคืบหน้าการให้เอกชนร่วมลงทุน ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือคณะกรรมการ PPP สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มีมติเห็นชอบรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 โดยการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในครั้งนี้ กำหนดให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบงานในส่วนการออกแบบและก่อสร้าง พร้อมจัดหาเงินทุน รวมถึงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐในการก่อสร้าง การดำเนินงานและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ โดยมีวงเงินค่าลงทุนงานโยธาและงานระบบกว่า 51,700 ล้านบาท และค่า O&M กว่า 12,600 ล้านบาท
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน – บางบัวทอง จะก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร ตามแนวถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 ด้านตะวันตก โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านทิศใต้ โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว และโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือข้ามทางรถไฟสายแม่กลอง ถนนเพชรเกษม เชื่อมต่อทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามทางรถไฟสายใต้ เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี จากนั้นเบี่ยงแนวเส้นทางขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณจุดตัดทางแยกต่างระดับบางบัวทอง เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ช่วงบางบัวทอง – บางปะอิน โดยครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดนนทบุรี รวมระยะทาง 35.85 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในต้นปี 2571
ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะกลายเป็นโครงข่ายสำคัญที่เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่ง ระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยสมบูรณ์ ซึ่งการเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เข้ามามีร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ จะช่วยลดภาระงบประมาณการก่อสร้างของภาครัฐ ลดระยะเวลาการก่อสร้าง ส่งเสริมการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยให้มีศักยภาพสูงสุด