ตำรวจเดินหน้าเร่งปิดคดีแตงโมแม้รูปคดียังคาใจ ฝ่าด่านกรรมาธิการ วุฒิฯ โวยแทรกแซงการทำงาน โดนษิทราแฉผู้การฯ แถมอัยการตีกลับคดีฟ้องกระติกให้การเท็จภาคประชาชนยื่นหลายหน่วยงานตรวจสอบแต่ยังไม่เป็นผล นักกฎหมายชี้อัยการตีกลับสะท้อนข้อเท็จจริงอาจไม่ใช่แค่ที่เห็นคดีนี้เป็นบททดสอบความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
คดีการตกเรือเสียชีวิตของดาราสาวแตงโมภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ เมื่อค่ำของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจติดตาม ทั้งพยายามช่วยหาหลักฐานหรือเบาะแสต่าง ๆ รวมทั้งที่ทีของญาติผู้เสียชีวิต ทนายความบุคคลอื่นทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง
กลายเป็นเรื่องให้ผู้คนได้พูดคุยกันเป็นวงกว้าง เชื่อหรือไม่เชื่อคำให้การของผู้ต้องหา และการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ที่ถูกตั้งข้อสังเกตตั้งแต่แรกทั้งเรื่องการตรวจพยานหลักฐาน การทิ้งระยะให้ผู้ต้องสงสัยเข้าพบพนักงานสอบสวนช้า จนการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดในร่างกายไม่สามารถตรวจพบ
ขณะที่การตั้งข้อหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับบุคคลบนเรือ เป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งทนายความหลายท่านได้ออกมากล่าวถึงผลท้ายสุดของคดีแล้วว่า หากผู้ต้องหามีการเสนอการเยียยาจนญาติผู้เสียชีวิตไม่ติดใจคดีนี้จะจบลงที่การรอลงอาญา
แต่ผู้คนจำนวนหนึ่งแม้จะไม่ใช่ญาติผู้เสียชีวิต ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับคดี ตั้งข้อสังเกตุว่าคดีนี้มีเงื่อนงำ ทั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงสายสัมพันธ์ของบุคคลทั้ง 5 อาจทำให้คดีนี้จบลงในทิศทางที่เป็นคุณกับผู้ต้องหา เกรงกันว่าจะกระทบกับความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ซึ่งเคยมีคดีในลักษณะนี้มาแล้ว
ความลับในสำนวน-ชวนสงสัย
คดีแตงโมอยู่ในความดูแลของสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรีเจ้าของคดี แม้จะมีการผ่าชันสูตรร่างถึง 2 ครั้ง ผลออกไปในทิศทางเดียวกันแต่ยังมีประเด็นปลีกย่อยอยู่อีกโดยเฉพาะบาดแผล 22 แห่ง
ปมปัญหาที่เกิดขึ้นคือเรื่องความเชื่อมั่นในคดีจนเกิด#แตงโมต้องไม่ตายฟรี อีกทั้งที่ผ่านมาความคืบหน้าของคดีนี้เป็นเพียงการแจ้งว่าดำเนินอะไรไปบ้างแล้วแต่ปมที่หลายคนต้องการทราบเรื่องคดีจากปากคำของผู้ต้องหา ได้รับคำตอบว่าอยู่ในสำนวนคดี
เป็นความลับทางคดี ทำให้บุคคลทั่วไปไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้นบนเรือในวันเกิดเหตุ
เมื่อทุกอย่างเป็นความลับในทางคดี จึงทำให้เกิดการตีความไปต่าง ๆ นานา เพิ่มความไม่เชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากขึ้นไม่ใช่เฉพาะบุคคลภายนอกแม้แต่ญาติคือนางพนิดา ศิริยุทธโยธิน มารดาแตงโมก็ทำเรื่องขอให้มีการชันสูตรรอบ 2 ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรมและได้ทำเรื่องขอให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิและเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บรืโภค วุฒิสภาที่มีแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ แม้ภายหลังจะขอถอนเรื่องออก
ด้วยเหตุผลเชื่อมั่นการทำงานของตำรวจ
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่น แม้คุณแม่แตงโมจะกล่าวภายหลังว่า ไม่ได้อ่านเอกสารที่ทนายกฤษณะ(ขณะนั้น)นำมาให้เซ็น แต่ผลของการชันสูตรรอบ 2 นำมาซึ่งข้อสังเกตเรื่องรอยแผล 22 แห่ง
ผลในการยื่นเรื่องต่อกรรมาธิการ วุฒิสภา ส่งผลให้คณะกรรมาธิการได้เข้าไปสังเกตการณ์พยานหลักฐานพร้อมทั้งให้คำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองนนทบุรี ทำให้พลตำรวจโทจิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) ที่ออกมาแถลงความคืบหน้าครบรอบ 1 เดือนการเสียชีวิตของแตงโม พร้อมตั้งคำถามต่อกรรมาธิการวุฒิสภา ว่า กรณีการสั่งการดังกล่าวอาจเข้าข่ายอาจก้าวก่ายและแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่
จากนั้นแม่แตงโมจึงถอนเรื่องออกจากกรรมาธิการ สิทธิฯ วุฒิสภา
ภาคประชาชนไม่เชื่อมั่น
คดีของแตงโมไม่ใช่มีแค่การเคลื่อนไหวทางโลกโซเชียลเท่านั้น แต่ยังมีภาคประชาชนเคลื่อนไหวร้องเรียนไปตามหน่วยงานต่าง ๆ เช่น นายนิติธร ล้ำเหลือ กลุ่มประชาชนคนไทย ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในกรณีคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ เมื่อ 11 มีนาคม 2565
ข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้เปลี่ยนคณะพนักงานสอบสวนคดีแตงโม 2. ให้องค์กรอื่นๆ เช่น DSI เข้าร่วมในการสืบสวนสอบสวน 3. ควรให้มีการชันสูตรพลิกศพซ้ำอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการ 4. ให้อายัดพยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อส่งมอบต่อพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดใหม่ และ 5. ไม่ควรรีบสรุปสำนวนคดีจนกว่าจะดำเนินการตาม ข้อ 1-4 เสียก่อน
นายนิติธร กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่มคนไทยกังวล คือ การทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม การสืบสวนสอบสวน การชันสูตรพลิกศพที่ผ่านมามีปัญหาน่าสงสัย และเจ้าหน้าที่ไม่มีคำตอบที่สมเหตุสมผล เมื่อกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา มีความพยายามเร่งรีบสรุปสำนวน มีการวางแนวทางการดำเนินคดีที่พุ่งไปยังเรื่องประมาทและอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นแนวทางที่คับแคบเกินไป เป็นการตัดประเด็นอื่นทิ้งไป
นอกจากนี้ยังได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้
ตามมาด้วยกลุ่มประชาชนที่ต้องการทวงความยุติธรรมให้กับแตงโม เดินทางมาแสดงเชิงสัญลักษณ์ สถานีตำรวจเมืองนนทบุรี จี้ตำรวจชันสูตรศพใหม่อีกครั้งให้ละเอียดโปร่งใส่ คลายข้อสงสัยสังคมเมื่อ 12 มีนาคม 2565
ทางกลุ่มต้องการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำงานให้เกิดความโปร่งใสยุติธรรมในคดีดังกล่าว และต้องการให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องต่อการเสียชีวิตของดาราสาว มารับโทษตามกฎหมายให้ได้ เนื่องจากมองว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องน่าจะมีความไม่โปร่งใสในการทำคดีดังกล่าว
จากนั้นเป็นคิวการขอชันสูตรรอบ 2 และการร้องขอกรรมาธิการ สิทธิฯ วุฒิสภา ของฝ่ายญาติผู้เสียชีวิต ที่ภายหลังได้ขอถอนเรื่องออกไป
ถัดมา 22 มีนาคม 2565 นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขาและนางสาวรสนา โตสิตระกูล ยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) เพื่อขอให้พิจารณารับกรณีการเสียชีวิตของแตงโมเป็นคดีพิเศษ ทั้งนี้คงต้องรอมติที่ประชุมใหญ่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าจะรับหรือไม่
“วันนี้ต้องการให้ดีเอสไอพิสูจน์ความจริงในคดีของแตงโม เพราะเป็นที่สนใจของสังคม เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและความปลอดภัยในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง”รสนา โตสิตระกูล
พร้อมร่างข้อสงสัยให้ดีเอสไอพิจารณา นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสงสัยลักษณะบาดแผลหลายแห่ง ร่องรอยต่างๆ ที่พบบนร่างกาย เช่น บาดแผลต้นขาขวา หรือ ตอนที่แตงโมตกน้ำ เพื่อนคนบนเรือถึงไม่ช่วย ทำให้เชื่อได้ว่ามีความจงใจให้เสียชีวิตหรือไม่ เล็งเห็นผลถึงการเสียชีวิตหรือไม่ อีกทั้ง มีบุคคลแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสืบสวนสอบสวนหรือไม่
ขณะที่นายนิติธรกล่าวว่า ผมถูกทำให้สงสัยจากพนักงานสอบสวนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีแตงโม ส่วนความซับซ้อนของคดีเกิดจากการทำหน้าที่ของตำรวจ
ษิทราแฉผู้การนนท์
ในช่วงที่ตำรวจเตรียมดำเนินคดีกับกุนซือที่ให้คำแนะนำกับผู้ต้องหาคดีแตงโม ได้มีการบอกใบ้คุณลักษณะของผู้ที่จะถูกดำเนินคดี ส่งผลให้เกิดการตีความกันว่าอาจเป็นทนายตั้ม หรือนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ทำให้ทนายตั้มมาชี้แจงผ่านรายการโหนกระแส 4 เมษายน 2565
เรื่องนี้ผมมองว่าเป็นแผนเบี่ยงเบนประเด็นของทางตำรวจ เอาเรื่องกุนซือมาลบข้อผิดพลาดของตัวเอง เพราะตอนนี้สังคมมองว่าคดีแตงโม ทำงานล่าช้า ไม่เก็บหลักฐานให้ดี เอาหลักฐานเจือปนกับอย่างอื่น ไม่ยอมเอาตัวผู้ต้องหามาสอบตั้งแต่วันแรก จนทำให้เขามีการไปปรึกษา หรือรับคำปรึกษา ไปคุยกับใคร ทีนี้ก็เบี่ยงประเด็นว่ามีกุนซือ
เขาต้องการเบี่ยงเบนประเด็นเรื่องการทำคดีของเขา ให้คนสนใจว่าอ๋อ ที่แท้ตำรวจทำงานบกพร่อง เพราะมีทนายความหรือมีกุนซือให้ความคิดกับพวกนี้ ไม่ได้เป็นเพราะตำรวจ
ผมเคยให้การกับพนักงานสอบสวน หลังเกิดเหตุไม่กี่วัน สองสามวัน วันนั้นที่ผมเข้าไป ผมเจอผู้การนนทบุรี ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี และอีก 3-4 คนผมไม่รู้เป็นใคร เขาก็พูดกับผมในแนวที่ว่าจะให้ผมให้การในการบอกว่าคนบนเรือที่มาคุยกับผมว่าไม่มีพิรุธ ตอนนั้นผมก็เอ๊ะแล้วว่าทำไมจะให้ผมให้การแบบนี้ จะให้ผมไปยืนยันพวกนี้ว่าเขาไม่มีพิรุธอะไร ผมก็บอกต่อหน้าเขาว่าผมจะให้การอย่างนั้นไม่ได้ ใครจะมีพิรุธ หรือไม่มีพิรุธ ไม่ใช่หน้าที่ของผม เพราะเขาเจอผมแค่ 15 นาทีเอง ถ้าอย่างนี้ใครเป็นคนบงการกันแน่
ด้าน พล.ต.ต.อุดร ยอมเจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ได้ตอบเรื่องของทนายตั้มว่า จากการสอบถามผู้กำกับทราบว่า ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นการคุยเรื่องธรรมดาเท่านั้นทนายตั้มจะมโน หรือคิดยังไง คำให้การโดยมีการเซ็นชื่อรับรองไปแล้ว ทุกอย่างอยู่ในสำนวนหมด ส่วนผู้กำกับจะมีการดำเนินแจ้งความกลับหรือไหมนั้น เป็นเรื่องส่วนตัว
อัยการตีกลับคดีกระติก
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ เมื่อ 5 เมษายน 2565 สำนักอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี ไม่รับคดีนางสาวอิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือกระติก รับสารภาพในข้อหาให้การเท็จ
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี ได้ประชุมพิจารณาคดีในเบื้องต้นแล้วมีความเห็นว่า แม้คดีนี้พนักงานสอบสวนมีอำนาจนำผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการ เพื่อฟ้องศาล โดยมิต้องสอบสวนและให้ฟ้องด้วยวาจา
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่สังคม สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนให้ความสนใจ เพราะคดีนี้เป็นการกล่าวหาผู้ต้องหาที่ให้การกับพนักงานสอบสวน สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา หรือ แตงโม พัชรวีระพงศ์ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงที่สังคมและประชาชนรับทราบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ว่า มีผู้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตคนอื่นและข้อหาอื่นอีกอยู่ในเหตุการณ์
ในชั้นนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรียังไม่ทราบข้อเท็จจริงอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นคดีตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 รวมทั้งเพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคดีนี้เป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากและซับซ้อน
สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี จึงมีคำสั่งคืนตัว น.ส.อิจศรินทร์ หรือ “กระติก” จุฑาสุขสวัสดิ์ ผู้ต้องหา พร้อมบันทึกคำให้การรับสารภาพแก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อ เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้น และได้ส่งตัวผู้ต้องหา พร้อมสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด
ข้อเท็จจริงอาจไม่ใช่แค่ที่เห็น
นักกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง 3 เหตุการณ์ ตั้งแต่การขอกรรมาธิการวุฒิสภาเข้ามาช่วยดูแลคดีจนมีการชันสูตรรอบ 2 การออกมาแฉของทนายตั้ม และการที่อัยการนนทบุรีตีกลับสำนวนตำรวจที่ฟ้องคดีให้การเท็จของกระติก เท่ากับสะท้อนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีแตงโม
โดยเฉพาะกรณีอัยการตีกลับสำนวนฟ้องกระติก ข้อเท็จจริงอาจไม่ใช่แค่ที่เห็น เร่งปิดคดีให้ง่าย ๆ อาจเป็นคุณกับผู้ต้องหา อัยการเห็นว่ามีพิรุธ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการคานอำนาจของพนักงานสอบสวน อัยการไม่ใช่แค่ไปรษณีย์ นึกจะส่งอะไรมาก็ฟ้องให้ตามนั้น
ส่วนโอกาสที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นกับที่ประชุมของกรม ที่ผ่านมา DSI ก็รับเป็นคดีพิเศษหลายกรณี
เช่นเดียวกับทนายความอีกรายที่กล่าวว่า บ้านเรากระบวนการยุติธรรมต้นน้ำกลัวการตรวจสอบ โดยหลักการแล้วต้องตรวจสอบได้ อย่างกรรมาธิการชุดคุณสิริเมื่อครั้งยังทำหน้าที่ ส.ส. ก็เรียกสอบหลายคดี ไม่เห็นตำรวจจะมีปัญหาเหมือนกับคดีนี้ สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่แค่ที่ สภ.นนท์เท่านั้น แต่เป็นเกือบทุกโรงพัก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมว่ามีมากน้อยแค่ไหน
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/