- ธันยพร บัวทอง
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายสิบแห่งทั่วประเทศประกาศใช้งบประมาณตัวเองซื้อวัคซีนทางเลือกผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม 1 ล้านโดสในเดือน มิ.ย. แต่ล่าสุดรัฐบาลออกมาระบุว่าการจัดซื้อนี้อาจจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดปัญหาในระเบียบว่าด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน
ปรากฏการณ์ยอมควักเงินงบประมาณของ อปท. เกิดขึ้นในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 62 แห่ง ตามรายงานการรวบรวมของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และยังมีท้องถิ่นระดับเทศบาลเมืองบางแห่งที่แสดงความสนใจจัดซื้อวัคซีนเอง
“ต้องถามความรู้สึกชาวบ้านว่าตอนนี้เป็นยังไง เขาก็อึดอัด…งบผ่านสภาไปแล้ว 300 ล้าน ต้องรอปลดล็อก จะซื้อก็ซื้อไม่ได้ ถ้าซื้อได้ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์” นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระบาดสีแดง มีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศกล่าวกับบีบีซีไทย
สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำลังจะนำเข้ามา เป็นวัคซีนทางเลือกยี่ห้อแรกที่จะฉีดให้คนไทย หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ถือเป็นวัคซีนของเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเร็วที่สุดเพียง 15 วัน
การแถลงข่าวของ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในวันเดียวกันนั้น อธิบายถึงการกระจายวัคซีนว่าจะใช้วิธี “ขายโดยไม่คิดกำไร” แต่จะรวมต้นทุนจัดซื้อ การขนส่ง และการจัดเก็บ
เลขาธิการราชวิทยาลัยฯ ระบุด้วยว่า มีเอกชนและ อปท. บางแห่งแสดงความจำนงมาแล้ว นั่นจึงเป็นที่มาที่ช่วงสองวันที่ผ่านมา อปท. หลายสิบแห่งทั่วประเทศประกาศใช้เงินงบประมาณของตัวเองจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดสีแดง ที่ได้รับจัดสรรวัคซีนฟรีจากรัฐบาลไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ระบาด
เสียงจากเทศบาลนครนนทบุรี
นนทบุรีจัดว่าเป็นพื้นที่สีแดงเข้มในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. โดยมีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ข้อมูลล่าสุด มีผู้ติดเชื้อสะสม 6,805 ราย (1 เม.ย.-31 พ.ค.)
นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี บอกกับบีบีซีไทยว่าเทศบาลมีความสนใจที่จะจัดซื้อวัคซีนทางเลือกผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขาให้เหตุผลว่าเพราะการจัดสรรจากรัฐบาลล่าช้า และสภาเทศบาลก็ได้ผ่านงบประมาณสำหรับการจัดหาวัคซีนไว้แล้วรอเพียงการปลดล็อกระเบียบจากส่วนกลาง
“เพราะในเวลานี้มันช้าไง มันช้า ถ้ารัฐปลดล็อกให้เทศบาลซื้อได้ เราก็จะช่วยซื้อมาช่วยกันฉีด เวลานี้ของเมืองนนท์ฉีดได้ไม่เท่าไหร่ ประชากรตั้ง 1.2 ล้าน ฉีดยังไม่ถึง 10,000 คน เลย ระบาดทุกวันติดกันทุกวันวันละ 400-500 ทำไมรัฐบาลไม่เอาวัคซีนมาทุ่มที่สีแดงเข้มกันก่อน”
เขาตั้งคำถามว่า เหตุใดในพื้นที่สีแดงอย่างนนทบุรีจึงได้รับจัดสรรวัคซีนในสัดส่วนที่น้อย และการจัดซื้อแต่ละครั้ง สั่งมาล็อตละ 5 ล้าน ทั้งที่รู้จำนวนประชากรทั้งประเทศที่ต้องรับวัคซีน
ในส่วนเขตเทศบาลนครนนทบุรีเอง มีประชากร 256,000 คน เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งจะได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชน 1,000 คนเท่านั้นขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (18 พ.ค.) ระบุว่า จ.นนทบุรี จะได้รับการจัดสรรวัคซีนในเดือน มิ.ย. จำนวน 64,000 โดส
วิษณุ ชี้ อปท. ไม่สามารถซื้อวัคซีนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ อปท. หลายจังหวัดติดต่อซื้อวัคซีนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า ยังไม่สามารถดำเนินการได้ หากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปตรวจสอบก็จะผิด เพราะใช้เงินผิดประเภท ดังนั้น ต้องทำให้ถูกประเภทเสียก่อน โดยให้กระทรวงมหาดไทยอนุญาตและออกเป็นกฎระเบียบก่อน ส่วนวัคซีนที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอยู่จะเพียงพอต่อการฉีดหรือไม่ นายวิษณุระบุว่าที่มีอยู่ 1 ล้านโดสก็จะหมดอยู่แล้ว
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรณีของ บริษัท ปตท. และสภาอุตสาหกรรมที่แสดงความจำนงสั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สามารถทำได้เพราะถือเป็นเงินของหน่วยงานนั้น แต่ในกรณีที่ อปท. ซึ่งเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินมีระเบียบของกระทรวงมหาดไทยอยู่ ฉะนั้น จะต้องไปปลดล็อกก่อน เพราะก่อนหน้านี้ไม่คิดว่าจะมีการนำเงินไปซื้อวัคซีน ดังนั้น จะต้องไปติดต่อกระทรวงมหาดไทยก่อน
มท.1 โยน ศบค. ตัดสินใจ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งดูแล อปท. กล่าวในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 วันนี้ (31 พ.ค.) ว่าให้ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) เป็นผู้หาข้อยุติ
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ตามกฎหมาย อปท. ทุกรูปแบบ ทั้ง อบจ. เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และ อปท. รูปแบบพิเศษทั้งเมืองพัทยาและกรุงเทพมหานคร สามารถดำเนินการจัดซื้อวัคซีนเพื่อป้องกันโควิดได้ แต่เนื่องจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเคยมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอต่อ อปท. ว่ายังทำไม่ได้ในระยะแรก จึงยังไม่มี อปท. จัดซื้อวัคซีน
รมว.มหาดไทยให้ความเห็นว่า เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่าการจัดซื้อวัคซีนโดย อปท. และเอกชนไม่สามารถทำได้ “ในระยะแรก” ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ กระจายและบริการฉีดวัคซีน ดังนั้นหากพ้นระยะแรกเมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องที่ อปท. น่าจะทำได้ตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าเมื่อมีโรคติดต่ออันตราย ให้ อปท. สนับสนุนการระงับการแพร่ระบาดได้
“เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายสับสน หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจขณะนี้คือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ศบค. จึงเห็นว่าต้องหารือและหาข้อยุติจาก ศบค. … ต้องให้ ศบค. พิจารณาว่ามันพ้นระยะแรกหรือยัง…” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
เปิดคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน
คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวถึงนั้นลงนามโดย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 แจ้งต่อผู้ร้องเรียนคือนายศรีสุวรรณ จรรยา เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล
ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยนี้กล่าวถึงการจัดซื้อวัคซีนของเอกชน และ อปท.ว่า “ขอให้กระทรวงสาธารณสุขและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เตรียมจัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้รับทราบและเข้าใจว่า ในระยะแรกนี้ หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน และกระจายวัคซีนตามแผนบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน จึงยังไม่สามารถให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง”
7 มิ.ย. จะมีทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค
แผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม จะเริ่มวันแรกในวันที่ 7 มิ.ย. นี้ ได้รับการยืนยันจากทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. ไปจนถึงอธิบดีกรมควบคุมโรคว่ามีวัคซีนให้ประชาชนฉีด แต่มีการให้ข้อมูลว่า วัคซีนที่ฉีดนี้จะไม่ใช่แอสตร้าเซนเนก้ายี่ห้อเดียว ตามที่มีการระบุในช่วงแรก
ก่อนหน้านี้ สธ. ระบุว่ากลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค จะได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า แต่ต่อมาคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเมื่อวันที่ 7 พ.ค. เห็นชอบให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้
จากความไม่แน่นอนของการจัดหาวัคซีนและคำถามว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดย บ.สยามไบโอไซเอนซ์ของไทยจะส่งมอบไม่ทันตามสัญญากับ สธ. หรือไม่ ชมรมแพทย์ชนบทได้ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กของชมรมฯ ว่า “ด้วยข้อมูลที่จำกัด เข้าใจว่า วัคซีนล็อตแรกในเดือนมิถุนายนนี้ จะสามารถส่งมอบล็อตแรกได้ที่ 1.8 ล้านโดส จากความต้องการใช้แอสตร้า 5 ล้านโดส โจทย์ที่สำคัญคือ วัคซีนจำนวนนี้ ควรจัดสรรไปฉีดให้ใคร แล้ววัคซีนที่ขาดไปจะทำอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม จากการให้สัมภาษณ์ของนายอนุทินเมื่อวันที่ 27 พ.ค. และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อ 29 พ.ค. ระบุตรงกันว่า กลุ่มที่เริ่มฉีดวันที่ 7 มิ.ย. จึงมีวัคซีนทั้งยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค
นายอนุทิน ตอบคำถามสื่อถึงความชัดเจนเรื่องวันส่งมอบวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าแล้วว่า เป็นไปตามสัญญาที่มีไว้กับ สธ. คือจัดส่งภายในเดือน มิ.ย. และการฉีดในวันที่ 7 มิ.ย. ไม่ได้มีเฉพาะแอสตร้าเซนเนก้า ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดส่งเข้ามา
เขาบอกด้วยว่า สิ่งสำคัญคือประชาชนทุกคนได้รับการฉีด ผู้สูงอายุก็ไม่มีปัญหา เพราะวัคซีนซิโนแวคครอบคลุมอายุ 18 ปีขึ้นไป สูงอายุไม่ว่าจะเท่าไรก็รับวัคซีนได้ทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค
ส่วนอธิบดีกรมควบคุมโรคบอกเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ว่ากำหนดเริ่มฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการวันที่ 7 มิ.ย. ยืนยันว่าทุกจังหวัดจะมีวัคซีนฉีดแน่นอน วัคซีนที่รัฐบาลจัดหาทั้งวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค สามารถฉีดได้ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปเหมือนกัน โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาฉีดให้โดยยึดหลักวิชาการทางการแพทย์
จัดสรรวัคซีน “สัปดาห์ต่อสัปดาห์”
นพ.โอภาส อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุภายหลังการประชุมทางไกลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ. โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ที่จะกระจายไปยัง 76 จังหวัด เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ว่าการกระจายวัคซีนโควิด 19 ให้แก่ทุกจังหวัด ตามนโยบายของ ศบค. มีเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก จำนวน 50 ล้านโดสให้เสร็จภายในเดือน ก.ย. 2564
แผนการกระจายวัคซีนไปยังแต่ละจังหวัดจะมีการพิจารณาจัดสรรกันสัปดาห์ต่อสัปดาห์
“การจัดส่งวัคซีนจากเดิมที่ส่งให้จังหวัดเป็นรายเดือนจะเปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และมีการติดตามผลการฉีดว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ โดยขอให้รายงานจำนวนการฉีดและสต๊อกวัคซีนที่เหลือ หากฉีดได้ตามเป้าหมายจะจัดส่งวัคซีนไปเพิ่มเติม…” นพ. โอภาสกล่าว
กรณีนี้ชมรมแพทย์ชนบทก็ระบุด้วยว่า การส่งมอบวัคซีนที่แม้ไม่ผิดสัญญาว่าส่งมอบภายใน มิ.ย. แต่การเริ่มกระจายฉีดเริ่มในวันที่ 7 มิ.ย. ตามที่ ศบค.กำหนดนั้น “เป็นเรื่องที่ ศบค. กำหนดเอง เพื่อลดเสียงก่นด่าเรื่องทำไมไม่มีวัคซีนให้ฉีด”
“เมื่อผลิตวัคซีนได้น้อยและช้ากว่าที่ตั้งธงไว้ การระบาดก็รุนแรง ความต้องการฉีดพุ่งสูง จึงเป็นมิถุนาแห่งความโกลาหล แผนการกระจายวัคซีนตอนนี้สร้างความปวดหัวแก่ รพ. อย่างมาก เพราะเปลี่ยนโผแทบทุกวัน” ชมรมแพทย์ชนบทระบุ
ผู้ต้องขังติดเชื้อในเรือนจำเพิ่มอีกเกือบ 2 พันคน
พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ประจำวันนี้ (27 พ.ค.) ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้ออย่างต่อเนื่องทำให้ขณะนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับที่ 82 ของโลก ขยับขึ้นจากอันดับที่ 84 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญดังนี้
-พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 5,485 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,475 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเรือนจำ 1,953 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 57 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 159,792 ราย เฉพาะการระบาดระลอกที่ 3 (1 เม.ย. 2564-ปัจจุบัน) มีผู้ติดเชื้อสะสม 130,929 ราย
-ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 50,416 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,233 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 390 ราย
-จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (1,356 ราย) เพชรบุรี (555 ราย) สมุทรปราการ (358 ราย) สระบุรี (327 ราย) และปทุมธานี (211 ราย)
-ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 1,031 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.65%
พญ. อภิสมัยกล่าวว่ากรุงเทพฯ ยังเป็นจังหวัดที่พบผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุด แต่ที่เป็นห่วงก็คือขณะนี้เริ่มพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในอีกกว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ใน จ.ปทุมธานี สระบุรีและฉะเชิงเทรา, โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใน จ.เพชรบุรี, โรงงานถุงมือยางใน จ.ตรัง ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยเกินกว่า 50 ราย และเริ่มระบาดไปในพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ล่าสุดพบผู้ป่วยในชุมชนใกล้เคียงอีก 76 ราย
กระจายวัคซีนไม่แน่นอน ทำเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ร่วมจัดโดยบริษัทเอกชนหลายแห่งวันนี้ (31 พ.ค.) ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวเกือบจะมากที่สุดในภูมิภาค จากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสามและการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
“คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา ซึ่งอาจต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 2566 กว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด” ผู้ว่า ธปท. กล่าว
นอกจากนี้ ดร. เศรษฐพุฒิยังกล่าวอีกว่า การระบาดที่เกิดขึ้นหลายระลอกและมาตรการที่ออกมาควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดเป็นช่วง ๆ ส่งผลต่อไปยังกำลังซื้อและกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ธุรกิจในภาคการค้าและบริการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้รับผลซ้ำเติมต่อเนื่อง บางธุรกิจต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว หลายธุรกิจขาดรายได้ กระทบสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกตินี้ ธุรกิจ SMEs จึงต้องการความช่วยเหลือเยียวยาโดยเร่งด่วน