ยอดติดโควิดทุบสถิติพุ่ง 2,839 ราย ตายเพิ่ม 8 คน “หมอทวีศิลป์” เผยข้อมูลวันที่ 22 เม.ย. มีเตียงผู้ป่วยทั้งสิ้น 40,524 เตียง ครองเตียง 19,386 เตียง ว่างอีก 21,138 เตียง ถือว่ายังไม่ถึงวิกฤติ “บิ๊กตู่” ไฟเขียวจังหวัดประกาศเคอร์ฟิว นนทบุรีนำร่อง แต่แค่ขอความร่วมมือห้ามออกจากบ้าน 3 ทุ่มถึงตี 4
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,839 ราย ซึ่งสาเหตุ พบตัวเลขเพิ่มขึ้นจริง แต่เป็นตัวเลขสะสมรอการคลีนข้อมูล เพราะอาจมีการส่งชุดข้อมูลซ้ำกัน จึงต้องคลีนข้อมูลหลายรอบ
โดยตัวเลขการติดเชื้อในประเทศ 2,827 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 2,523 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 304 ราย และมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 53,022 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 377 ราย หายป่วยสะสม 30,566 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 22,327 ราย อาการหนัก 418 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 113 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 8 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 129 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 8 ราย รายที่ 1 ชายไทย อายุ 48 ปี จ.สมุทรปราการ โรคประจำตัวโรคอ้วน ปัจจัยเสี่ยงการป่วยไปสถานบันเทิงย่านศรีนครินทร์ วันที่ 12 เม.ย. มีไข้ เจ็บคอ ถ่ายเหลว วันที่ 18 เม.ย. พบเชื้อและปอดอักเสบ วันที่ 22 เม.ย. เสียชีวิต, รายที่ 2 หญิงไทย อายุ 83 ปี กทม. โรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 14 เม.ย. มีไข้ อ่อนเพลีย วันที่ 18 เม.ย. พบเชื้อ วันที่ 22 เม.ย. เสียชีวิต
รายที่ 3 ชายไทย อายุ 89 ปี กทม. เป็นผู้ป่วยติดเตียง มะเร็งลำไส้ ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 22 เม.ย. มีไข้ ไอ หายใจลำบาก วันที่ 23 เม.ย. พบเชื้อและเสียชีวิต, รายที่ 4 ชายไทย อายุ 63 ปี กทม. โรคประจำตัวความดันโลหิต เกาต์ ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 11 เม.ย. มีไข้ วันที่ 22 เม.ย.พบเชื้อ วันที่ 23 เม.ย. เสียชีวิต
รายที่ 5 ชายไทย อายุ 68 ปี จ.ฉะเชิงเทรา โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 10 เม.ย. มีไข้ วันที่ 11 เม.ย. พบเชื้อ วันที่ 22 เม.ย. เสียชีวิต รายที่ 6 หญิงไทย อายุ 82 ปี จ.สมุทรปราการ โรคประจำตัวมะเร็งปากมดลูก ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 14 เม.ย. พบเชื้อ วันที่ 20 เม.ย. เสียชีวิต
รายที่ 7 ชายไทย อายุ 75 ปี จ.นครสวรรค์ โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด ต่อมลูกหมากโต ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 9 เม.ย. ไอ เจ็บคอ ครั่นตัว วันที่ 11 เม.ย. พบเชื้อ วันที่ 22 เม.ย. เสียชีวิต และรายที่ 8 ชายไทย อายุ 62 ปี จ.นนทบุรี โรคประจำตัวไตวายเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อสถานบันเทิง วันที่ 18 เม.ย. เหนื่อย วันที่ 21 เม.ย. พบเชื้อ วันที่ 23 เม.ย. เสียชีวิต
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก พล.อ.ณัฐพล? นาคพาณิชย์? เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ? (สมช.)? ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19? (ศปก.ศบค.) ได้รายงานสาเหตุการติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มาจากการติดเชื้อในที่ทำงาน ติดเชื้อจากการพบปะรับประทานอาหารร่วมกัน ติดเชื้อภายในครอบครัว ติดเชื้อจากการมั่วสุม รวมกลุ่ม ไม่เว้นระยะห่าง ติดเชื้อจากกิจกรรมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ และอาจจะเกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ
ยังว่างอีก 21,138 เตียง
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ข้อมูลตรงนี้ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง รวมถึงผู้ติดเชื้อให้ไทม์ไลน์คลาดเคลื่อน จึงทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดล่าช้า ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคลต้องเข้มข้น ผู้ประกอบการ กิจกรรม กิจการ รวมถึงการขนส่งสาธารณะต้องดูแลสถานที่ของตัวเอง ให้เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุข รวมถึงให้ทุกภาคส่วนเข้มข้นมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม เพื่อจะได้ไม่มีมาตรการที่แรงกว่านี้ พร้อมกันนี้ยังให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ติดตามการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ศบค.อย่างเคร่งครัด
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) เช้าวันเดียวกันนี้ มีการรายงานสถานการณ์เตียงผู้ป่วยภาพรวมของประเทศ โดยเตียงในรูปแบบต่างๆ ทั้งห้องความดันลบ ห้องความดันลบแบบรวมกลุ่ม ห้องแยกผู้ป่วย หอที่รวมผู้ป่วยโควิด Hospitel และห้องไอซียู ข้อมูลวันที่ 22 เม.ย. มีทั้งสิ้น 40,524 เตียง ครองเตียง 19,386 เตียง เตียงว่าง 21,138 เตียง ถือว่ายังไม่ถึงวิกฤติ
“ตัวเลขที่ผมพูดเมื่อวันที่ 23 เมษายน เป็นภาพของ กทม. จนทำให้หลายคนวิตก โดยข้อมูลเตียงของ กทม.และปริมณฑล ณ วันที่ 22 เมษายน มีเตียงทั้งหมด 16,422 เตียง ครองเตียง 11,075 เตียง เตียงว่าง 5,347 เตียง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลภาพรวมต้องพยายามให้เตียงว่างมากที่สุด กทม.แม้จะมีประเด็นพอสมควร แต่ข้อดีคือมีบุคลากรทางการแพทย์มาก ก็จะบริหารจัดการให้ผู้รอเตียงได้รับการรักษาพยาบาล”
เมื่อถามว่า การรอเตียงจากเดิมผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการ แต่ระหว่างรอเตียงอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นเหมือนที่มีข่าวการเสียชีวิตระหว่างรอเตียง มีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ตอบว่า วันนี้มี 2,013 รายที่รอเตียง ซึ่งเพิ่มขึ้น 590 ราย เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ได้ดำเนินการคนที่รอเตียงเข้าไปรับการรักษาแล้ว 724 ราย ซึ่งในที่ประชุมอีโอซีวันเดียวกันนี้ได้พูดคุยถึงกรณีผู้ป่วยรอเตียง 2,013 รายนี้ว่าจะจัดโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel รวม 4 แห่งใน กทม.และปริมณฑล และจะติดต่อกลับ 2,013 ราย ให้ได้เสร็จสิ้นภายใน 2-3 วันนี้ ขอให้รอรับโทรศัพท์ ถ้าใครมีอาการรุนแรงจะให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนไม่สบายใจ เพราะได้รับรายงานว่าหลายสายมีการปฏิเสธการแอดมิตและติดต่อกลับไปไม่ได้ถึง 146 สาย จึงขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือ เราพยายามทำเต็มที่ทุกอย่าง ขอให้ท่านร่วมมือกับเรา ไม่ปฏิเสธการแอดมิต และเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เป็นข่าวก็ขออภัย
ซักว่าหากผู้ติดเชื้อยังบวกมาเรื่อยๆ จนเกินขีดความสามารถการรองรับ จะออกมาตรการในการคุมเข้มอย่างไร โฆษก ศบค.ชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลอย่างใกล้ชิด และพร้อมยกระดับในการดูแลประชาชนในภาพรวม แต่ข้อมูลชุดนำเข้าต้องวิเคราะห์แยกแยะให้ชัดเจนว่ากลุ่มก้อนไหนที่เป็นปัญหาและจัดการเฉพาะที่ ซึ่งในปัจจุบันชัดเจนว่า กทม.และปริมณฑลมีตัวเลขที่สูงรอรับบริการ เหลือเพียงการบริหารจัดการ ตัวเลขที่สูงขึ้นหากเราพยายามช่วยกันอย่างเต็มที่ไม่มีการแพร่เชื้อไปบุคคลในครอบครัว กิจกรรม กิจการที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน จะถูกจัดการอย่างไรเป็นมาตรการที่ละเอียดอ่อนมาก ตอนนี้อยู่ในช่วงของ 2 สัปดาห์การยกระดับ มาตรการมีความสำคัญและผลกระทบต่อประชาชน
ดังนั้น หากเราจะยกระดับต้องดูพื้นที่ ไม่ใช่ประกาศไปทั่วทั้งประเทศ และประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดอาจจะได้รับผลกระทบนี้ ข้อนี้ชัดเจน เราจะไม่ทำเช่นนั้น แต่อาจเป็นพื้นที่เฉพาะหรือกลุ่มควบคุมสูงสุดอะไรอย่างไรนั้น ขอให้รอเวลา ขณะนี้ฝ่ายยุทธศาสตร์กำลังคิดกันอยู่ และจะมีข้อเสนอในเชิงมาตรการออกมาอีกครั้ง
ไฟเขียวจังหวัดเคอร์ฟิว
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ระบุว่า “พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศบค. ได้รับทราบปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้เรียกประชุมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างเร่งด่วน และผมได้สั่งการให้แก้ปัญหาทั้งหมด และได้ข้อสรุปเบื้องต้นดังนี้ครับ
1.เรื่องการดูแลผู้ป่วย ได้มีการสั่งการหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขดังนี้
1.1 ให้จัดเตรียมเตียงเพิ่มเติมที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทุกคน เร่งแก้ปัญหาเตียงเต็มของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ด้วยการบูรณาการระบบส่งตัวผู้ป่วยกับหน่วยงานขนส่งต่างๆ เพื่อนำส่งไปยังโรงพยาบาลในปริมณฑล
1.2 โดยในวันนี้ผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่นอก รพ. จำนวน 1,423 คน จะเริ่มได้รับการติดต่อนัดหมายเพื่อนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามความเร่งด่วนของอาการ และทั้งหมดจะต้องใช้เวลาไม่เกิน 2-3 วันนับจากวันนี้
1.3 แก้ปัญหาการเชื่อมโยงเครือข่าย ด้วยการเพิ่มเติมคู่สายผู้รับโทรศัพท์ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น
1.4 แก้ปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างสถานที่ตรวจของเอกชนกับระบบของรัฐให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยให้ปรับรูปแบบการคัดกรอง ให้ไปคัดกรองที่โรงพยาบาลสนามแทนโรงพยาบาลทั่วไปเพื่อลดการแออัด จากนั้นทางรัฐจะติดต่อเพื่อสอบถามอาการ ความรุนแรง และนัดเวลาไปรับมารักษา
1.5 เพิ่มบุคลากรอาสาทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ จากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน มาช่วยงานในภารกิจต่างๆ
1.6 หากสถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้น อาจพิจารณาลดเวลาในการกักตัวในโรงพยาบาลสำหรับผู้ไม่มีอาการหรืออาการน้อย จาก 14 วันลงเหลือ 10 วัน และให้กักตัวที่บ้านอย่างเคร่งครัด และมีระบบติดตามดูแล ซึ่งจะช่วยทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้น จะช่วยลดภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์
2. เรื่องการควบคุมสถานการณ์
2.1 สั่งการให้ทุกจังหวัดเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมสถานการณ์ ตามกลุ่มที่ได้แบ่งไว้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการพิจารณายกระดับมาตรการการป้องกันโรค ปิดสถานที่ต่างๆ ได้เพิ่มเติมที่จำเป็น
2.2 พิจารณาความจำเป็นในการออกประกาศปิดสถานที่หรือกำหนดเคอร์ฟิวในบางพื้นที่อย่างละเอียดรอบคอบถึงผลกระทบต่างๆ
โดยผมในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จะติดตามกำชับการดำเนินการทุกข้ออย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติครั้งนี้ให้ลุล่วงไปให้ได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นอันดับแรกครับ
ต้องดูไปแต่ละวัน
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ?เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ? (สมช.)? ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19? (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงมาตรการที่จะทยอยออกมาก่อนครบกำหนด 2 สัปดาห์การประเมินสถานการณ์ของ ศบค. หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่ลด ว่าขณะนี้ได้ประสานสมาคมผู้ค้าปลีกในการประสานช่วยปรับลดเวลาการเปิด-ปิดห้างสรรพสินค้าให้น้อยลง เพื่อลดการอยู่ร่วมกันของประชาชน ขณะที่สมาคมภัตตาคารจะใช้มาตรการขอความร่วมมือซื้ออาหารกลับบ้าน และจะมีมาตรการอื่นๆ ตามมาอีกเรื่อยๆ เพราะหากรอให้ครบวันประเมิน 2 สัปดาห์อาจไม่ทันการณ์ แต่มาตรการต่างๆ ที่ออกมา จะพยายามไม่ให้กระทบกับประชาชนที่ประกอบอาชีพ และถ้ายังไม่ดีขึ้น จะค่อยๆ ใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น
ทั้งนี้ เราไม่อยากทำอะไรทีเดียวให้ประชาชนในภาพรวมเดือดร้อน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้สั่งให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังในแง่การแพร่เชื้อไม่ให้เกิดเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนด้วย ตนจึงต้องชั่งน้ำหนักในการออกมาตรการต่างๆ หากเข้มข้นหมดก็อาจกระทบต่อประชาชน หากไม่ทำก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนมาตรการอื่นๆ ที่จะออกตามมานั้น ต้องดูไปแต่ละวัน เพราะส่วนหนึ่งของมาตรการมาจากตัวเลขที่ปรับ และจากการที่นายกฯ สั่งบูรณาการในพื้นที่ต่างๆ ส่วนอำนาจของผู้ว่าฯในการปิดสถานที่ต่างๆ นั้น เช่นใน จ.นนทบุรี ก็เป็นการเน้นย้ำตามกรอบของข้อกำหนดที่ให้ไว้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการขอความร่วมมือเพื่อลดการรวมกลุ่ม ลดการเคลื่อนย้าย หากทำได้ก็จะทำให้การแพร่เชื้อลดลง
ขณะที่นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนนทบุรี ได้ออกคำสั่งจังหวัดนนทบุรี ที่ 1121/2564 ลงวันที่ 23 เม.ย.2564 เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 37) โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.64 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงดังนี้
หนึ่งในนั้นคือ ขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักภายหลังเวลา 21.00 น. จนถึงเวลา 04.00 น. ของวันถัดไป เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
จากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มก้อนงานเลี้ยงสังสรรค์วันสงกรานต์ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกลุ่มเพื่อน ที่ร้านอาหารในเมืองสุโขทัย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ที่พบการแพร่ระบาดไปยังผู้ร่วมงานอย่างน้อย 10 ราย โดยเสียชีวิตแล้ว 1 ราย
คลัสเตอร์ รมว.ยุติธรรม
ความคืบหน้าล่าสุด นพ.ปองพล วรปาณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า ขอชี้แจงกรณีผู้ป่วยคลัสเตอร์ร้านอาหารคาเฟ่เดอทรี สุโขทัย ที่กล่าวถึงกันว่าเป็นเลขาฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนั้น ไม่ใช่ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่เป็นคนใกล้ชิดที่เป็นผู้ติดตามรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน โดยว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ไม่ได้เดินทางมาร่วมงานที่สุโขทัยแต่อย่างใด และได้รับการตรวจเชื้อแล้วผลเป็นลบ และขอยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานเลี้ยงนี้แต่อย่างใด
นพ.ปองพลกล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จังหวัดสุโขทัยวันที่ 23 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 26 ราย ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสูงขึ้นถึง 65 ราย และยังมีรอผลอีกจำนวนมาก โดยติดเชื้อมาจากงานเลี้ยงที่คาเฟ่เดอทรี 15 ราย แพร่กระจายสู่ครอบครัวและกลุ่มใกล้ชิด 13 ราย เฉพาะกลุ่มงานเลี้ยงรวมผู้ติดเชื้อ 28 ราย ทำให้ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกระยะในช่วงนี้ และพร้อมส่งผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นเข้ารับการรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 ที่อาคารชวนชม ซึ่งเป็นอาคารสูง 4 ชั้น และมีความพร้อมสามารถรับผู้ป่วยเข้ามาพักฟื้นได้จำนวน 80 เตียง
พล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด/หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) จึงได้สั่งการเร่งด่วนให้กองทัพสนับสนุนยานพาหนะพร้อมพลขับในการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนาม พร้อมทั้งสั่งการให้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 ศปม. ณ กรมยุทธบริการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อให้การสนับสนุนแก่ ศบค.
โดยเบื้องต้นจะให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการในการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปส่งยังโรงพยาบาลสนามได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้จัดยานพาหนะสนับสนุนจำนวนทั้งสิ้น 21 คัน ประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 5 คัน, กองทัพบก จำนวน 10 คัน, กองทัพเรือ จำนวน 3 คัน และกองทัพอากาศ จำนวน 3 คัน โดยจะทำการหมุนเวียนรับ-ส่งผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนาม วันละ 5 คัน ระหว่างเวลา 08.00-20.00 น. ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน และจะดำเนินการไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ขอให้คนไทยทุกคนโปรดร่วมมือร่วมใจกันในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 อย่างเคร่งครัด มีวินัยในการดูแลตนเอง ไม่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทย และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มขีดความสามารถต่อไป.