วันพฤหัสบดี ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565, 12.29 น.
1 ก.ย. 2565 ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีการเปิแผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่สามารถขับรถยนต์เกียร์อัตโนมัติได้อย่างคนปกติทั่วไป และได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลจากสำนักงานขนส่งจังหวัดนนทบุรี โดยอาศัยใบอนุญาตดังกล่าวในการประกอบอาชีพเสริมขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน (Grab Driver) มาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี
ต่อมาได้มีการกำหนดเงื่อนไข ให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันจะต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2564 ผู้ร้องจึงไปติดต่อขอทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครหลายแห่ง และสำนักงานขนส่งจังหวัดนนทบุรี แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องเป็นผู้พิการ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 กำหนดว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องความพิการจะกระทำไม่ได้ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (CRPD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ได้รับรองความเท่าเทียมกันและการห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งปวงเพราะเหตุแห่งความพิการ
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรมการขนส่งทางบก (ผู้ถูกร้อง) ได้ออกระเบียบว่าด้วยการดำเนินการทางทะเบียนและภาษีสำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 และระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการทางทะเบียนและภาษีสำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ส่งผลให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันจะต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ เป็นเหตุให้ผู้ร้องต้องไปติดต่อสำนักงานขนส่งหลายแห่งเพื่อขอทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ แต่ถูกปฏิเสธ
โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าผู้ร้องเป็นผู้พิการทำให้ไม่สามารถทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะได้ ทั้งที่การทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะมีหลักการพื้นฐานเดียวกันกับการทำใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 46 ซึ่งผู้ร้องเองก็เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 และได้รับการต่ออายุใบอนุญาตตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ตลอดมา
และเมื่อพิจารณาเงื่อนไขเรื่องความพิการที่เจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกใช้เป็นสาเหตุในการปฏิเสธไม่ให้ผู้ร้องทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะนั้น จะพบว่าตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 46 (4) ระบุว่า “ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นว่า ไม่สามารถขับรถได้” ซึ่งผู้ถูกร้องได้ให้คำอธิบายไว้ในการชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เป็นกรณีที่นายทะเบียนจะต้องพิจารณาความพิการทางกายภาพที่มองเห็นว่าผู้ขอรับใบอนุญาตมีสภาพความพิการอย่างไร เช่น ตาบอด แขนขาด ขาขาด เป็นต้น
เมื่อนำมาเทียบเคียงกับกรณีของผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและสามารถขับรถยนต์ได้ตามปกติดังเช่นบุคคลธรรมดาทั่วไปโดยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์มาตั้งแต่ปี 2548 ผู้ร้องจึงน่าจะเป็นผู้ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกร้องปฏิเสธไม่ให้ผู้ร้องทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้พิการจึงไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ในชั้นนี้จึงเห็นว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ดี กรมการขนส่งทางบกชี้แจงว่า เพื่อให้การออกใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะกรณีของผู้ร้อง เป็นไปด้วยความรอบคอบ มีความชัดเจนและสามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีลักษณะเดียวกับผู้ร้องได้ จึงได้สั่งการให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการตามกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ข้อ 8 (2) (ซึ่งกำหนดให้นายทะเบียนพิจารณาสภาพร่างกายและจิตใจ ประวัติการขับรถ และความเหมาะสม ในการขับรถของผู้ขอรับใบอนุญาต)
ทั้งนี้ ได้สั่งการเป็นการภายในให้นายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ประสานผู้ร้องเพื่อมายื่นคำขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะแล้ว อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ ได้รับทราบข้อเท็จจริงว่านายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ยังไม่ได้เรียกผู้ร้องเข้าไปพบเพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของกรมการขนส่งฯ แต่อย่างใด ทำให้ปัญหาของผู้ร้องยังไม่ได้รับแก้ไข
ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกรมการขนส่งทางบก โดยขอให้เร่งรัดให้ผู้ร้องได้เข้ารับการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ และให้กำชับนายทะเบียนพิจารณาดำเนินการตามกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ข้อ 8 (2) อย่างเคร่งครัด
เพื่อให้การออกใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะเป็นไปด้วยความรอบคอบ มีความชัดเจน และสามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีลักษณะเดียวกันกับผู้ร้อง ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้