แม้ต้องแลกกับการควักกระเป๋าจ่ายค่าผ่านทาง แต่ผู้ใช้รถจำนวนมากก็ยอมใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เพราะถึงที่หมายด้วยความสะดวกรวดเร็ว และมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงกว่าถนนทั่วไป
ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีมติเห็นชอบรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่ หมายเลข 9 (M 9) สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 56,035 ล้านบาท
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ให้รายละเอียดว่า เมื่อโครงการผ่านบอร์ด PPP แล้ว กรมทางหลวงจะเดินหน้าโครงการทันที โดยตามแผนงานจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต้นปี 66 และเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 66 เพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 67 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบต้นปี 71
การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในครั้งนี้ กำหนดให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบงานการออกแบบและก่อสร้าง พร้อมจัดหาเงินทุน รวมถึงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐในการก่อสร้าง การดำเนินงานและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ โดยมีวงเงินค่าลงทุนงานโยธาและงานระบบกว่า 51,700 ล้านบาท และค่า O&M กว่า 12,600 ล้านบาท
รูปแบบโครงการจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร ตามแนวถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 ด้านตะวันตก มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อM 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านทิศใต้ และ M 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว บนถนนพระราม2 รวมทั้งโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน
แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือข้ามทางรถไฟสายแม่กลอง ถนนเพชรเกษม เชื่อมต่อทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามทางรถไฟสายใต้ เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อ M 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี จากนั้นเบี่ยงแนวเส้นทางขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณจุดตัดทางแยกต่างระดับบางบัวทอง เชื่อมต่อ M 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน โดยครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี
เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นโครงข่ายสำคัญเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่ง ระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยสมบูรณ์ รองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องอย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย
การเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เข้ามามีร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ จะช่วยลดภาระงบประมาณการก่อสร้างของภาครัฐ ลดระยะเวลาการก่อสร้าง ส่งเสริมการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยให้มีศักยภาพสูงสุดตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม …….อธิบดีกรมทางหลวงแจกแจงถึงข้อดีในการให้เอกชนร่วมลงทุน
ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (รอบที่ 2) หรือชื่อพระราชทาน “ถนนกาญจนาภิเษก” เป็นวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมถึงผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา มีระยะทางตลอดทั้งสายรวม 181 กม. ถือเป็นถนนวงแหวนและทางเลี่ยงเมืองที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาครัฐทยอยก่อสร้างเป็นช่วงๆ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก กรมทางหลวงเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2521 ช่วงตลิ่งชัน–บางบัวทอง และเรียกกันว่าถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก เดิมกำหนดเป็นทางหลวงหมายเลข 37 ต่อมาได้เปลี่ยนหมายเลขทางหลวงเป็น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 แต่ยังให้ประชาชนใช้ฟรี ปัจจุบันวงแหวนตะวันตก (บางปะอิน–บางบัวทอง–บางขุนเทียน) มีระยะทาง รวมประมาณ 68 กม. แบ่งเป็นต่าง ๆ ได้แก่ ช่วงบางปะอิน–บางบัวทอง ขนาด 4–6 ช่องจราจร ระยะทาง 44 กม. และช่วงบางบัวทอง-บางขุนเทียน ขนาด 10–12 ช่องจราจร ระยะทาง 24กม.
ต่อมากรมทางหลวงได้ก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (บางปะอิน-บางพลี) มีรูปแบบเป็นมอเตอร์เวย์เก็บค่าผ่านทาง รวมทั้งถนนกาญจนาภิเษกด้านใต้ (บางพลี-บางขุนเทียน) เป็นทางพิเศษ (ทางด่วน) เก็บค่าผ่านทาง แบ่งเป็นช่วงบางพลี-สุขสวัสดิ์ ดำเนินการโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และช่วงสุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน ดำเนินการโดยกรมทางหลวงเดิมเปิดให้ใช้ฟรี ปัจจุบันได้มอบให้ กทพ.เก็บค่าผ่านทางให้กรมทางหลวง
วงแหวนฯ ตะวันตกช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ปัจจุบันเป็นทางระดับดินเปิดบริการฟรีมีประมาณ 10-12 ช่องจราจรทั้งทางหลักและทางขนาน กรมทางหลวงจะก่อสร้างทางยกระดับตรงเกาะกลาง 6 ช่องเพื่อพัฒนาเป็นระบบมอเตอร์เวย์เก็บค่าผ่านทาง ส่วนพื้นราบให้วิ่งฟรีเหมือนเดิม รูปแบบคล้าย M 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว บนถนนพระราม 2 ที่กำลังก่อสร้างจะแล้วเสร็จเปิดบริการปี 67-68
อดใจรออีก 6 ปี (ปี 71) วงแหวนด้านตะวันตกช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง จะเปลี่ยนโฉมสู่มอเตอร์เวย์อย่างสมบูรณ์แบบ ทางลอยฟ้าวิ่งฉิวสะดวกสบาย แต่หากไม่อยากจ่ายเงินก็วิ่งพื้นราบเหมือนเดิม
…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…