การเมือง
“เฉลิมชัย”เร่งของบฯสร้างผนังกั้นน้ำจ้าพระยา ช่วง”ฟันหลอ”นนทบุรีอีก 10 จุด
วันอังคาร ที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 13.27 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
รมว.เกษตรฯ มั่นใจ กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำได้ เผยวางแผนดำเนินงานไว้ล่วงหน้า เร่งผลักดันงบประมาณก่อสร้างผนังกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาในจ. นนทบุรี ช่วง“ฟันหลอ” อีก 10 จุด ป้องกันน้ำท่วมซ้ำรอยปี 54 ในระยะยาว พร้อมสั่งทำสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสำคัญเพื่อให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ ลดความตระหนก
วันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2564 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่าได้ ย้ำให้นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขอุทกภัยประจำปีที่วางไว้ ยืนยันว่า ปีนี้ไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 54 แน่นอน พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทซึ่งเดือดร้อนจากน้ำล้นตลิ่ง ได้กำชับให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดนนทบุรีซึ่งได้รับรายงานว่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีพนังกั้นน้ำนั้น ยังมีพื้นที่ที่เว้นช่วง ไม่ได้ก่อสร้าง 10 จุด จึงจะผลักดันงบประมาณประจำปี 2567 -2568 กว่า 3 พันล้านบาทให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเพื่อใช้ก่อสร้างตลอดแนวซึ่งจะแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว ไม่ให้ซ้ำรอยปี 2554
นอกจากนี้ยังกำชับให้กรมชลประทานทำสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสำคัญๆ ซึ่งมักใช้อ้างอิงสถานการณ์น้ำเช่น สถานี C. 2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ สถานี C. 29 อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยอาจทาสีแบ่งเป็น สีเขียว เหลือง แดงที่มาตรวัดระดับน้ำหรือติดธงแบบเดียวกับที่สถานีวัดน้ำ M. 7 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ประชาชนจะได้ทราบว่า ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นนั้นอยู่ในภาวะที่ยังปลอดภัย เฝ้าระวัง หรืออันตราย เพราะการรายงานเพียงตัวเลขระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียว หากประชาชนไม่เข้าใจจะสร้างความตื่นตระหนกได้
ขณะที่นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า การระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แจ้งเตือนให้กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานีเฝ้าระวัง โดยอาจมีระดับสูงขึ้นอีกระหว่าง 7-10 ตุลาคมนี้ ทางกรมชลประทานใช้ทุกระบบบริหารจัดการ ทั้งเร่งระบายตามทางน้ำหลัก โดยควบคุมการปิด – เปิด ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เร่งระบายผ่านสถานีสูบน้ำชายทะเลได้แก่ สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังผันน้ำส่วนหนึ่งไปทางฝั่งตะวันออกไปยังแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ออกอ่าวไทย ล่าสุดเริ่มผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ 10 ทุ่งแล้ว
ส่วนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีได้ปิดประตูระบายน้ำอาคารชลประทานตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันภาวะน้ำหนุน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำในคลองสายต่างๆ ส่วนที่จังหวัดปทุมธานีควบคุมการระบายน้ำในคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นที่คลองพระยาบรรลือ โดยพิจารณาร่วมกับการระบายน้ำของพื้นที่ตอนล่าง เพื่อควบคุมปริมาณน้ำ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมเสริมกระสอบทรายบริเวณที่มีคันคลองต่ำเพื่อป้องกันความเสียหาย รวมถึงควบคุมการระบายน้ำที่ไซฟอนพระธรรมราชาและประตูระบายน้ำพระธรรมราชา คลองระพีพัฒน์แยกใต้ด้วย อีกทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี 16 จุดและขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อที่ โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน กรมชลประทานหมายเลข 1460ตลอดเวลา
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่