เมื่อวันที่ 22 กันยายน นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ผู้อำนวยการจังหวัดหนังสือ มีหนังสือด่วนที่สุดในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี ด่วนที่สุด ที่ นบ (กอปภ.จ.)0021/ว 3493 วันที่ 22 กันยายน 2565 เรื่อง แจ้งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มสูงขึ้น ในช่วงวันที่ 22 – 26 กันยายน 2565 แจ้งเตือนน้ำทะเลหนุนสูง โดยเฉพาะชุมชนลุ่มต่ำ นอกเขตคันกั้นน้ำ 12 ชุมชน ถึง นายอำเภอหัวหน้าส่วนราชการต่าง นายกเทศมนตรี
โดยหนังสือระบุว่า”ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี ได้รับแจ้งจากโครงการชลประทาน นนทบุรี ว่าช่วงวันที่ 22-26 กันยายน 65 จะมีน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับอาจมีฝนตกลงมาในพื้นที่ อาจทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง โดยมีพื้นที่มีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ประกอบด้วย ชุมชนมัสยิดท่าอิฐ ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด, ชุมชนบริเวณคลองบางภูมิ อำเภอปากเกร็ด, ชุมชนนอกคันกั้นน้ำ หมู่ที่ 1 และต.บางพลับ อำเภอปากเกร็ด, ชุมชนนอกคันกั้นน้ำวัดตาล, ชุมชนวัดเลย ตำบลบางตะไนย์ อำเภอปากเกร็ด, ชุมชนริมแม่น้ำของเกาะเกร็ด ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด, ชุมชนวัดบางจาก ตำบลคลองพระอุดม อำเภอปากเกร็ด, ชุมชนนอกคันกั้นน้ำวัดแจ้งศิริสัมพันธ์, ชุมชนนอกคันกั้นน้ำวัดแคนอก อำเภอเมืองนนทบุรี, ชุมชนท่าน้ำนนทบุรี ชุมชนตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี, ชุมชนวัดเขียน ,ชุมชนวัดค้างคาว ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี, ชุมชนไทรม้า-ท่าอิฐ อำเภอเมืองนนทบุรี , พื้นที่ได้สะพานพระราม 5 อำเภอเมืองนนทบุรี และชุมชนคลองบางกรวยและคลองบางสีทอง อำเภอบางกรวย
เพื่อให้การรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี ขอให้ดำเนินการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำเตรียมการพร่องน้ำในคลองสายหลักให้พร้อมรองรับปริมาณฝน พร้อมประชาสัมพันธ์ ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มี แนวป้องกันน้ำถาวร แนวฟันหลอ และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำให้รับทราบล่วงหน้า โดยเตรียม ความพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และเครื่องจักร ให้มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนในที
สำหรับอำเภอขอให้แจ้งเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ทราบและถือปฏิบัติ เทศบาลนครและเทศบาลเมือง ขอให้ประสานการปฏิบัติกับอำนาจด้วย”
นางสาวอโรชา กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรี โดยนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ได้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่อาจจะมีเศษวัสดุที่เกิดจากการก่อสร้าง ลงไปอุดท่อระบายน้ำของถนนซึ่งจะจะเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สนง.โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด แขวงทางหลวงนนทบุรี ปภ.จังหวัด เทศบาลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตำรวจภูธรจังหวัดร่วมคณะด้วย
นางสาวอโรชา กล่าวอีกว่า จ.นนทบุรี มีการขอรับการสนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 14 นิ้ว กำลัง 28,000 ลิตรต่อนาที จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังที่สำคัญ ทั้งหมด 7 จุด เพื่อช่วยในการระบายน้ำ ทั้งจากถนนสายสำคัญ รวมถึงจุดที่จะระบายน้ำจากชุมชนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากขณะนี้แม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับที่สูงไม่สามารถเปิดบานประตูได้ต้องอาศัยการสูบเท่านั้น
การช่วยเหลือประชาชนโดยท้องถิ่นต่างๆในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการก่อกระสอบทราย การทำสะพานไม้ หรือการแจกถุงยังชีพ ให้อปท. ต่างๆช่วยเหลือได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าของ อปท. พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นางสาวอโรชา กล่าวอีกว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลหลากรวมทั้งน้ำทะเลหนุน มีทั้งสิ้น อปท.27 แห่ง จากทั้งหมด 44 แห่งซึ่งได้มีการวางแนวกระสอบทราย พนังกั้นน้ำชั่วคราว สะพานไม้ไปแล้วทั้งสิ้น 124 จุด วางกระสอบทรายและพนังกั้นน้ำชั่วคราว รวม 18,692 เมตร ใช้กระสอบทรายไปแล้ว 222,362 ใบ
นางสาวอโรชา กล่าวอีกว่า จังหวัดนนทบุรี มีประตูระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำถาวรติดตั้ง ณ ประตูน้ำ บริเวณฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งดูแลโดยกรมชลประทานและ อปท. รวมประตูระบายน้ำ 105 แห่ง เครื่องสูบถาวร 120 เครื่อง แยกเป็น ฝั่งตะวันตก มีประตูระบายน้ำ จำนวน 83 แห่ง มีเครื่องสูบน้ำ 37 แห่ง 76 เครื่อง ฝั่งตะวันออก มีประตูระบายน้ำ จำนวน 22 แห่ง มีเครื่องสูบน้ำ 20 แห่ง 44 เครื่อง
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่