ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 44 ราย มาจากกรุงเทพฯ 30 ราย สมุทรสาคร 6 ราย ตากและปทุมธานีจังหวัดละ 2 ราย นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ และหนองบัวลำภู จังหวัดละ 1 ราย, มาจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 17 ราย พบในกกรุงเทพฯ 13 ราย สมุทรสาคร 3 ราย ปทุมธานี 1 ราย, ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 8 ราย จากประเทศต้นทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3 ราย บรูไน สวีเดน บาห์เรน ญี่ปุ่น และเมียนมา ประเทศละ 1 ราย
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 28,346 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 9,490 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 15,846 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,010 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 26,873 ราย เพิ่มขึ้น 107 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 92 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. เปิดเผยว่า วันนี้จ.หนองบัวลำภู ถือเป็นจังหวัดที่ทำไข่แตกแล้ว โดยเป็นผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงคือ กทม.
นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม และราชบุรี ที่เป็นสะดก็ดไฟต่อเนื่องจากคลัสเตอร์ที่พบก่อนหน้านี้ ส่วน จ.เพชรบุรี แม้วันนี้ไม่มีรายการตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่ยังวางใจไม่ได้
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของ จ.สมุทรสาครดีขึ้นตามลำดับ ในวันนี้พบผู้ติดเชื้อใหม่เพียง 9 ราย และได้มีการเปิดการเดินรถโดยสารเป็นวันแรก ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของประชาชน ผู้ประกอบการในจังหวัด ถือเป็นการเปิดบ้านเปิดเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนสามารถเดินทางเข้าพื้นที่ แวะไปทำธุระหรือเข้าไปท่องเที่ยวใน จ.สมุทรสาครได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ทางขนส่ง จ.สมุทรสาคร ยังคงมีการกำหนดให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคระบาดที่เข้มงวด ทั้งการสวมหน้ากาก ตั้งจุดเจลแอลกอฮอล์ มาตรการเว้นระยะห่างในระหว่างรอขึ้นรถ พร้อมทั้งยังขอความร่วมมือประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้ จ.สมุทรสาครเป็นต้นแบบที่ดีต่อไป
นอกจากนี้ ในวันนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รายงานการลักลอบชาวเมียนมาผ่านช่องทางธรรมชาติ จำนวน 33 คน เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา และพบว่ามีชาวเมียนมาติดโควิด 4 คน ส่งผลให้ทางเจ้าหน้าที่อีก 70 คนต้องกักตัวเพื่อดูอาการด้วย ซึ่งทางผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ ได้เสนอขอให้มีการจัดสถานกักกันที่กองร้อยตำรวจตะเวนชายแดน ซึ่งออกห่างจากสถานที่ชุมชน
ด้านความคืบหน้าการติดเชื้อในศูนย์กักสวนพลูและบางเขนที่ตัวเลขพุ่งไปสูงกว่า 300 รายนั้น ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ระบุว่าอย่าดูตัวเลขที่สูง แต่ให้ดูมาตรการป้องกันและจำกัดไม่ให้แพร่กระจายไปอย่างชุมชน ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เข้าไปกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นแล้ว และวันนี้ตัวเลขเป็นศูนย์แล้ว ซึ่งสถานการณ์ถือว่าควบคุมได้
ขณะที่กรณีคลัสเตอร์ โรงงานทำขนม ที่บางขุนเทียน เมื่อวานนี้ (23 มี.ค.) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 17 คน ในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 3 ราย (เมียนมา 2 ไทย 1) และเพศหญิง 14 ราย (เมียนมา 12 ไทย 2)
จากการสอบสวนโรค พบว่า ที่พักอาศัยเป็นอาคารพาณิชย์แบ่งเป็นห้องเช่า มีพนักงานประมาณ 70 คน การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค ไม่มีการลงทะเบียน ไม่มีจุดบริการเจลล้างมือ การสวมใส่หน้ากากอนามัยไม่เคร่งครัด
พญ.อภิสมัย กล่าวถึง แผนกระจายวัคซีนซิโนแวก 8 แสนโดสในเดือน เม.ย.64 โดยกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายใน 22 จังหวัด ประกอบด้วย 1.จังหวัดที่มีความจำเป็นในการควบคุมการระบาด 6 จังหวัด จำนวน 3 แสนโดส ได้แก่ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ อ.แม่สอด จ.ตาก ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี 2.จังหวัดท่องเที่ยว 8 จังหวัด จำนวน 2.4 แสนโดส ได้แก่ ชลบุรี (รวมพัทยา) ระยอง เชียงใหม่ ขอนแก่น กระบี่ พังงา อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และ 3.จังหวัดชายแดน 8 จังหวัด จำนวน 6 แสนโดส ได้แก่ สงขลา สระแก้ว เชียงราย มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย จันทบุรี นอกนั้นเป็นการฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุข อสม. เจ้าหน้าที่กลุ่มอื่นๆที่จำเป็นและควบคุมการระบาดในจังหวัดใหม่ จำนวน 2.1 แสนโดส
สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบตามโดสที่กำหนดไว้แล้วยังจำเป็นต้องดำเนินวิถีชีวิตแบบนิวนอร์มอล มีการเว้นระยะห่าง ล้างมือสม่ำเสมอ ซึ่งมีตัวอย่างในบางประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้วแต่ยอดผู้ติดเชื้อไม่ค่อยลดลง เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันที่เร็วเกินไป เป็นต้น
ส่วนการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 2 เดือนนั้น พญ.อภิสมัย ได้ชี้แจงว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วยให้การทำงานในพื้นที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ถือเป็นความต้องการและข้อเสนอจากในพื้นที่เข้ามายัง ศบค. เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานควบคุมโรคได้
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 124,790,051 ราย เสียชีวิต 2,745,386 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 30,636,534 ราย อันดับสอง บราซิล 12,136,615 ราย อันดับสาม อินเดีย 11,733,594 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 4,474,610 ราย และอันดับห้า ฝรั่งเศส 4,313,073 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 116
“ประเทศบราซิล ตอนนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ถือว่าแซงประเทศสหรัฐฯไปแล้ว”
–อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: [email protected]–