จังหวัดปทุมธานี เป็นอีกจังหวัดที่มีประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายมอญชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา เป็นแรงดึงดูด ให้ชวนไปรู้จัก เมื่อไม่นานนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้จัดกิจกรรมทดสอบเส้นทางนำร่องท่องเที่ยวทางน้ำ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทาง 4 จังหวัด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ พระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ สัมผัสวิถีชุมชน ใกล้ชิดธรรมและวัฒนธรรม
การเดินทางครั้งนี้เราโดยสารเรือ ไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ ที่นั่งกว้างขวาง แอร์เย็นสบาย ด้านบนมีดาดฟ้ารับลมชมวิว ซึ่งเราไปขึ้นเรือที่ท่า Riverdale Marina ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Riverdale District ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ถือเป็นจุดพักผ่อนแห่งใหม่เต็มรูปแบบ ประกอบด้วย สนามกอล์ฟระดับสากล โรงแรม ศูนย์สุขภาพ คอมมูนิตี้มอลล์ และได้แวะเยี่ยมชม และทำกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ท้องฟ้ายามเช้าที่มืดครึ้มหลังจากที่ฝนตกปรอยๆมาตลอดทั้งคืน ถือว่าเป็นวิกฤตในโอกาสที่เราจะได้นั่งเรือรับลมเย็นๆ ไม่ต้องร้อนแดด หาที่นั่งริมหน้าต่างเพื่อชมวิว ระหว่างเรือแล่นออกจากท่าได้สักพัก ทอดสายตาออกไปด้านนอกจะเห็นบ้านเรือนริมน้ำตั้งเรียงรายขนาบสองฝั่งเจ้าพระยา ไกด์บอกว่า ในอดีตจ.ปทุมธานี เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการเกษตร การทำเครื่องปั้นดินเผาโอ่งและอ่าง เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่งไปขายหลายจังหวัด จึงมีความรุ่งเรืองด้านการค้าทางน้ำ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มมอญ สันนิษฐานฐานว่ามาจากเมืองเมาะตะมะ อพยพเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีอิทธิพลความเป็นมอญไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม บ้านเรือนริมน้ำ สังเกตได้จากบ้านหลังไหนที่หันตัวบ้านขวางน้ำไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศมงคลตามความเชื่อ บ้านหลังนั้น เป็นบ้านคนไทยเชื้อสายมอญ
เรือแล่นผ่านชุมชนร่วมจิตต์มุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแขกมลายู อีกด้านคือวัดศาลเจ้า ที่ผู้คนนิยมมากราบขอพรเซียนแปะโรงสี ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของคนหลากหลายเชื้อชาติ จากนั้นเรือค่อยแล่นผ่านหน้าศาลากลางจังหวัดเก่า ผ่านวัดสำแล บริเวณวัดคือจุดเริ่มต้นของคลองประปา ยาวไปจนถึงโรงผลิตน้ำประปาสามเสน ผ่านวัดสิงห์ ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่สามโคก ที่มีชาวมอญอพยพมาอยู่เยอะ และยังคงมีร่องรอยความรุ่งเรืองในอดีตคือ เตาเผาขนาดใหญ่ 3 เตา จบเส้นทางเรือหันหัวกลับมาจอดที่ท่าตรงศาลากลางจังหวัดปทุมธานีหลังเดิม
ตรงจุดนี้เราได้เข้ามาชมศาลากลางจังหวัดปทุมธานีหลังเดิม ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนเทศบำรุง โดยมีการสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 6 ตัวอาคาร เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป หรือทรงปั้นหยา จึงได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร ปัจจุบันคือที่ตั้งของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปทุมธานีชั่วคราว ข้างในจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของจ.ปทุมธานี เดินเข้าไปด้านในสิ่งแรกที่ต้องสะดุดตาคือ ตุ่มดินเผา มีชาวมอญเรียกว่า อีเลิ้ง ที่ตั้งซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ อีเลิ้งคือตุ่มใส่น้ำที่ช่วยรักษาความเย็นได้ดีทีเดียว
ถัดมาด้านข้างคือเตาสามโคก หรือที่รู้จักในเตาโอ่งย่าง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวมอญ ที่ทำขึ้นเพื่อทำเครื่องปั้นดินเผาขาย หันไปทางด้านหลังก็จะเจอกับบ้านเรือนแบบมอญ ที่จะสร้างลักษณะขวางลำน้ำ ตามที่กล่าวข้างต้นว่าเป็นเรื่องของความเชื่อ เดินไปอีกห้องจะเป็นการจำลองด้านในของเรือกระแชง ที่เรียกแบบนี้เพราะหลังคาทำจากไม้กระแชง ใช้บรรทุกตุ่ม โอ่ง อ่าง ข้าวไปขายทุกจังหวัดริมน้ำเจ้าพระยา ถัดเข้ามาสู่ยุคที่เริ่มมีเครื่องจักรเครื่องแรกในไทยที่ใช้ขุดคลองรังสิต ต่อมาก็เป็นการเข้ามาของวงการอุตสาหกรรมและภาพกษัตริย์ที่เคยเสด็จเยือนจ.ปทุมธานี จบด้วยการจัดแสดงประเพณีต่างๆของชาวมอญ ที่ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ ขนทรายเข้าวัดในวันสงกรานต์ การทำข้าวแช่ เป็นต้น
ฝนตกลงมาอย่างหนัก เราจึงต้องนั่งรถไปต่อที่ วัดสิงห์ อ.สามโคก ที่จะได้กราบพระทั้ง 4 ทิศในวัดเดียว ด้านในกำแพงแก้วของเขตเจดีย์และวิหาร เดินเข้ามาจะพบกับโกศพญากราย (พระไตรสรณธัช) เป็นอดีตเจ้าอาวาสมีเชื้อสายของราชวงศ์มอญ สร้างตามรูปแบบศิลปะไทยผสมมอญ ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นบัวแวง ลายหน้ากระดานประจำยามก้ามปู ตัวโกศประด้วยลายปูนปั้นพรหมศรและกาบกระจังโดยรอบตัวโกศ ส่วนยอดประดับด้วยบัวกลุ่ม 12 ชั้น บัวจงกลปลียอดและหยากน้ำค้างสวยงามได้สัดส่วน
ส่วนตรงวิหารน้อย เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหลังมีการเจาะเป็นช่องแสงกึ่งกลางของอาคาร มุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบู ลักษณะฐานอาคารแอ่นสำเภาเป็นฐานบัวลูกแก้ว มีประตูเข้าช่องทางเดียว วงกบประตูทำด้วยไม้สักทอง ด้านในประดิษฐานหลวงพ่อพุทธสิริมาแสน ประจำทิศตะวันตก สร้างจากศิลาทรายแดง ปางมารวิชัย ส่วนอุโบสถ ที่มีรูปแบบเป็นทรงโรงมีมุขด้านหน้า ด้านในจะมีระดับต่ำกว่าพื้นภายนอกซึ่งเป็นลักษณะอุโบสถในสมัยอยุธยา ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธรัตนมุนี ประจำทิศตะวันออก พระวรกายสวยงามตามแบบศลิปอยุธยา
ความวิจิตรงดงามของวัดอีกแห่งคือ ศาลาดิน เป็นอาคารทรงไทยหน้าจั่วลูกฟักหน้าพรหม พื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผาขัดมัน ด้านในประดิษฐานหลวงพ่อโต ปางมารวิชัย ประจำทิศเหนือ ด้านหลังคือหลวงพ่อเพชร ปางไสยาสน์ ประจำทิศใต้ ฉากด้านหลังซุ่มเรือนแก้วคือภาพจิตรกรรมฝาผนังศิลปะอยุธยา เป็นเรื่องราวพระพุทธเจ้าเสด็จจากดางดึงส์ แต่รายละเอียดนั้นเลือนรางไปตามกาลเวลา
ข้ามถนนฝั่งตรงข้ามวัดคือที่ตั้งของ เตาเผาสามโคก ที่ก่อด้วยอิฐสอดินเหนียว มีรูปร่างคล้ายประทุนหรือหลังเต่า แบ่งออกเป็นสามส่วนคือปล่องไฟ ห้องวางภาชนะดินเผา ห้องไฟ ที่ยังคงรูปร่างให้เราได้พอจินตนาการได้เมื่อตอนที่ชาวมอญยังใช้ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา
มายังวัดสุดท้าย วัดบางหลวง เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า วัดสิงห์ ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งทิศตะวันตก ความสำคัญของวัดแห่งนี้คือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจ.ปทุมธานี นามว่า พระปทุมธรรมราช ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์มอญทรงชเวดากอง และทรงมูเตา ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย เมื่อครั้งขุดคลองลัดเตร็จใหญ่มีการขุดพบพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนเป็นอย่างมาก
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และ พระนครศรีอยุธยา ) สามารถ Download E – book ได้ทาง www.https://tourismproduct.tourismthailand.org