วันเสาร์ ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564, 13.58 น.
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค พท., นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี แถลงถึงกรณีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ ที่ส.ว.จะควํ่า และรัฐบาลไม่ยอมเปิดประชุม สมัยวิสามัญฯ ว่า พ.ร.บ.ประชามติเป็น พ.ร.บ.ปฏิรูป และเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งเสนอโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านคณะรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ได้เสนอ พ.ร.บ.ประชามติส่งให้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นเรื่องพิจารณาด่วน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมามีทั้งหมด 66 มาตรา ซึ่งได้บอกเหตุผลและความจำเป็นในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงผ่านการออกเสียงประชามติโดยอิสระปราศจากการครอบงำ
“ถามว่า เพราะอะไรทำไมถึงต้องมี พ.ร.บ.ประชามติ เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่มีการขอแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในมาตรา 256 ในการออกเสียงประชามติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 (8) ได้ให้นายชวนจะต้องมีการแจ้งให้นายกรัฐมนตรีได้ทราบเพื่อที่จะได้มีการดำเนินการเรื่องของการออกเสียงประชามติ ซึ่งก่อนจะโหวตในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ได้มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาในวันที่ 11 มีนาคม บอกว่า ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องถามประชาชนเจ้าของอำนาจก่อนว่า จะให้แก้รัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ เมื่อแก้ไขเสร็จก่อนจะประกาศใช้ต้องมีการถามประชาชนอีกครั้ง คือการไปทำประชามติ ดังนั้นกฎหมายประชามติจึงเป็นกฎหมายสำคัญคู่กับการแก้รัฐธรรมนูญ จะมาเตะถ่วงอยู่แบบนี้ได้อย่างไร เพราะการออกเสียงประชามติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 บอกไว้ว่า กรณีที่ ครม.เห็นว่า มีเหตุอันสมควรในการเสนอเรื่องการจัดทำประชามติ ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาในการออกเสียงประชามติ เพื่อให้อำนาจ ครม.ในการดำเนินการออกเสียงประชามติ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย บอกว่าพ.ร.บ.ประชามตินี้เป็นร่างที่รัฐบาลเป็นคนเสนอจะตกไม่ได้ หากตกรัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกโหวตตกไปในวันที่ 17 มีนาคม เนื่องจากไม่มี ส.ว. 84 คนมาโหวตให้ พอถึงวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จนกระทั่งพิจารณาถึงมาตรา 9 ในร่างที่รัฐบาลเสนอมา คือ อำนาจในการออกเสียงประชามติเป็นอำนาจของ ครม. แต่ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้มีการแก้ไขว่า ให้เพิ่มสิทธิให้รัฐสภาและประชาชนเสนอเรื่องประชามติได้ ซึ่งผลโหวตได้มี ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน รวมกับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลคือ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้โหวตร่วมกันชนะ แต่ ส.ว.ไม่ยอม มีการตีรวนเพื่อขอให้โหวตใหม่ ซึ่งไม่สามารถทำได้เนื่องจากโหวตไปแล้ว
“ทราบว่า มาในขณะนี้มี ส.ว.กลุ่มใหญ่เตรียมคว่ำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้จะโหวตผ่านในวาระ 2 ก็จะมีการคว่ำในวาระ 3 ทั้งนี้ท่านประธานชวนบอกว่า แก้มาตรา 9 ที่บอกว่า ให้สิทธิของรัฐสภาและประชาชนในการที่จะเสนอกฎหมายประชามติได้ จึงไปกระทบมาตราอื่น คือมาตรา 10-15 จึงต้องมีการแก้ไขภายใน 7 วัน เมื่อครบ 7 วัน ท่านประธานชวนต้องเสนอไปที่รัฐบาล เพื่อให้มีการทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมวิสามัญในวันที่ 7-8 เมษายน และในการประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและ ครม. เงียบ ไม่ยอมเสนอเรื่องนี้เข้าพิจารณาในการประชุม ครม.” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า หากร่าง พ.ร.บ.นี้ถูกคว่ำ รัฐบาลมี 2 ทาง คือ หากไม่ยุบสภาก็ต้องลาออก เนื่องจากเป็นร่างที่รัฐบาลเสนอ และเป็น พ.ร.บ.ที่มีความสำคัญ ซึ่งจะแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร หากไม่มี พ.ร.บ.ประชามติ และในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อการตั้งสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถูกคว่ำก็ต้องแก้เป็นรายมาตรา พ.ร.บ.ประชามติก็มาโยงอีก เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเขียนมาแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา แต่ต้องถามประชาชนเจ้าของอำนาจก่อน คือการทำประชามติก่อน สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า ทั้งรัฐบาลและ ส.ว.ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่นายกรัฐมนตรี บอกว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เหมือนปากว่าตาขยิบ ทำไมถึงไม่เร่งเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ หากวันที่ 7-8 เมษายน เปิดไม่ได้ ก็จะตรงกับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เปิดมาก็ปลายเดือนเมษายน ก็จะยิ่งช้าไปกันอีก