วันที่ 24 ต.ค.65 ที่กองบัญชาตำรวจนครบาล (บชน.) พลตำรวจตรี โชคชัย นามวงศ์ รอง ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ภาณพ วรธนัชชากุล ผบก.สปพ. และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้ทำการแถลงผลการจับกุมเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดของ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) หรือ 191 สามารถจับกุม นายกิตติศักดิ์ หรือ “แชมป์” อายุ 33 ปี, นายจักรพงษ์ หรือ “แจ๊ค” อายุ 33 ปี และ นายสายชล หรือ “เต๋า” อายุ 35 ปี พร้อมของกลางยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ไอซ์) 162 กิโลกรัม (เฮโรอีน) 120 แท่ง วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 (เคตามีน) 97 กิโลกรัม อาวุธปืนพกสั้นกึ่งอัตโนมัติ ยี่ห้อ RUGER รุ่น SR9C ขนาด 9 มม. 1 กระบอก อาวุธปืนลูกซองยี่ห้อ REMINGTON รุ่น Moder 1100 จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนไทยประดิษฐ์พันท้ายพับได้ 1 กระบอก รถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ 2 คัน สามารถจับกุมตัวได่ที่บริเวณบ้านหลังหนึ่ง ในซอย 19 หมู่บ้านฮาบิเทีย–บางใหญ่ ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พระราม 5-บางใหญ่ หมู่ที่ 3 ถ.ประชาอุทิศ ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ต่อเนื่องกัน โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์, เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภท 2 (เคตามีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต”
พล.ต.ต.โชคชัย กล่าวว่า การจับกุมขบวนการค้าไอซ์รายใหญ่ ในพื้นที่ภาคกลาง หลังตำรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 ขยายผลจากการจับกุมผู้ค้ายารายย่อย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า มีการรับซื้อยาเสพติดจากกลุ่มของนายกิตติศักดิ์ ไม่ทราบนามสกุล กับพวกรวม 3 คน จนพบว่า นายกิตติศักดิ์ กับพวก ได้เช่าบ้านหรูในพื้นที่อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี 2 หลัง คล้ายเป็นจุดพักยา ตำรวจจึงเข้าตรวจค้น พบกลุ่มผู้ต้องหากำลังวางแผนส่งยาให้กับผู้ค้ารายย่อย นอกจากนี้ ยังพบอาวุธปืนสงคราม 1 กระบอก / ปืนยาว 1 กระบอก และปืนสั้น 1 กระบอก
จากการสอบสวน นายกิตติศักดิ์ และพวกรับสารภาพว่า ใช้บ้านหลังดังกล่าว เป็นจุดรับคำสั่งส่งยาจากนายทุน และเป็นสถานที่วางแผนการส่งยาให้กับลูกค้า ส่วนบ้านอีกหลัง ใช้เป็นคลังเก็บยาเสพติด ซึ่งตำรวจได้เข้าตรวจค้น พบเฮโรอีน 120 แท่ง / ไอซ์น้ำหนัก 162 กิโลกรัม รวมถึง วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 เคตามีนอีก 97 กิโลกรัม โดยยาเสพติดจำนวนนี้ รับมาจากพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนถูกลำเลียงส่งให้กับกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท โดยทำมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงปัจจุบัน รับยามาแล้ว 4 ครั้ง
ทั้งนี้ ตำรวจชุดจับกุมยอมรับว่า กลุ่มผู้ต้องหามีการใช้เทคโนโลยีรีโมท พลิกกลับปรับเปลี่ยนป้ายทะเบียนรถ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ และเริ่มถูกนำมาใช้มากขึ้นในกลุ่มของผู้ก่อคดีอาชญากรรม โดยเฉพาะขบวนการค้ายาเสพติด เมื่อสอบถามผู้ต้องหายอมรับว่า สั่งซื้อระบบพลิกกลับเปลี่ยนป้ายทะเบียนมาจากเว็บไซต์สินค้าออนไลน์ ในราคา 30,000 บาทก่อนนำมาติดตั้งกันเอง