มวลน้ำเหนือสะสม เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มระบายน้ำจาก 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ขึ้นเป็น 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที แจ้งเตือน 4 จังหวัดท้ายเขื่อนตั้งแต่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และอยุธยา ช่วง 6 วันวิกฤติระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 เมตร กอนช.ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลกระทบชุมชนหลังแนวฟันหลอริมเจ้าพระยาทั้งนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ด้านภาคอีสานยังสำลักน้ำหลายจังหวัด ที่ขอนแก่นฝายแตกทำหมู่บ้านจมบาดาลในรอบ 40 ปี อุบลฯเร่งสูบน้ำ 2 ชุมชนวารินชำราบ ร้อยเอ็ดระดมอุดพนังกั้นลำน้ำยัง ป้องกันนาข้าวหลายพันไร่ ลำปางระทึกกระแสน้ำซัดสะพานขาด
สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ยังเดือดร้อนหนัก เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านกุดรู หมู่ 4 ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น มีน้ำท่วมขังบ้านเรือน 36 หลัง และท่วมโรงเรียนบ้านกุดรูจนต้องปิดการเรียนการสอน นายมิตรภาพ ไกรวัน ผอ.โรงเรียนเผยว่า น้ำท่วมฉับพลันในโรงเรียนช่วงเย็นวันอาทิตย์ ต้องสั่งปิดเรียน 3 วัน อาคารเรียนชั้นเดียวถูกน้ำท่วมหมด อุปกรณ์การเรียนการสอนและคอม พิวเตอร์เสียหายหมด ขณะที่นายสุนันท์ ยอดคำ ผช.ผญบ.บ้านกุดรู กล่าวว่า กว่า 40 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดน้ำท่วมหมู่บ้านและโรงเรียน สาเหตุจากฝายอีสานเขียวแตก อยู่ห่างจากหมู่บ้านราว 2 กม.น้ำในฝายผสมกับฝนที่ตกลงมาทุกวันประกอบกับถนนสูงทำให้น้ำเอ่อท่วมหมู่บ้าน ปภ.ขอนแก่น นำเครื่องสูบน้ำมาสูบออกทำให้น้ำลดลงบ้าง แต่ชาวบ้านยังเดือดร้อนการหุงหาอาหารและขาดน้ำดื่ม จ.ร้อยเอ็ด นายธนบดี ครองยุติ หน.ปภ.ร้อยเอ็ด นำเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเหตุพนังกั้นลำน้ำยังขาดเป็นทางยาวกว่า 7 เมตร บริเวณบ้านหนองผักตบ ต.เหล่าน้อย เชื่อมต่อบ้านบาก ต.วังหลวง อ.เสลภูมิ เจ้าหน้าที่ชลประทานนำเครื่องจักรกล รถแบ็กโฮ รถดัมพ์ลำเลียงเสาเข็มลงพื้นที่ ทำแนวชะลอน้ำวางกล่องเกเบียนบรรจุก้อนหินเพื่อปิดกั้นแนวที่ขาด สาเหตุเกิดจากระดับน้ำในลำน้ำ ช่วง 2 วันสูงขึ้นจาก 5 เมตรเป็น 10 เมตร มีการซึมไหลลอดใต้แนวพนังจนขาด ต้องรีบอุดให้อยู่ไม่ให้ล้นไปท่วมนาข้าวหลายพันไร่ และบ้านเรือนชาวบ้านทางตอนล่างหลายหมู่บ้าน
นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ.อุบลราชธานี เข้าสำรวจชุมชนท่าบ้งมั่ง และชุมชนเกตุแก้ว เทศบาลเมืองวารินชำราบ น้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำมูลไหลท่วมบ้านเรือนชาวชุมชนที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำ ต้องอพยพไปอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ เจ้าหน้าที่ ปภ.เดินเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากชุมชนทั้ง 2 แห่ง ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมแล้ว 8 อำเภอ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมถูกน้ำท่วมกว่า 24,000 ไร่ ที่พักอาศัยในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานีและเทศบาลเมืองวารินชำราบต้องอพยพแล้ว 7 ชุมชนรวม 46 ครอบครัว
จ.พิษณุโลก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก พร้อมคณะลงพื้นที่ อ.ชาติตระการ ไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยที่หมู่ 3 บ้านปากรอง มอบเงิน 5,000 บาทให้เด็กชายอายุ 14 ปี ที่พ่อแม่ถูกไฟช็อตเสียชีวิตขณะช่วยกันขนย้ายสิ่งของหนีน้ำท่วม จากนั้นไปตรวจสอบสะพานบ้านน้ำพึง หมู่ 7 ต.ชาติตระการ เชื่อมต่อหมู่ 5 บ้านนาม่วง ต.ท่าสะแก ถูกน้ำป่าพัดสะพานขาด ประสาน นอภ.ชาติตระการ เร่งแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน และไปให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่หมู่ 2 ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย มีบ้านเรือนถูกน้ำป่าซัดเสียหาย 6 หลังและพื้นที่การเกษตรบางส่วน สั่งการเจ้าหน้าที่กองช่างนำเครื่องจักรกลเข้าเคลียร์ต้นไม้ขนาดใหญ่ถูกน้ำป่าซัดมากีดขวางเส้นทางการจราจร ดินโคลนที่ทับถมถนน และให้นำรถผลิตน้ำดื่มพร้อมรถสุขาเคลื่อนที่ไปบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
จ.เพชรบูรณ์ หลังจากมวลน้ำจากแม่น้ำป่าสักไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ อ.หล่มสัก สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนราษฎรในหลายตำบล บางจุดน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร โดยเฉพาะที่ ต.ตาลเดี่ยว ถูกน้ำท่วมขังรอบที่ 3 ในปีนี้ สาเหตุหลักคือบ้านเรือนที่อยู่ติดแม่น้ำป่าสักไม่มีพนังกั้นน้ำ ส่วนอีกฝั่งคือเขตเทศบาลเมืองหล่มสักมีพนังกั้นน้ำทำให้สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ล่าสุดระดับน้ำลดลงจนเกือบเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ทหารและเจ้าหน้าที่เทศบาลระดมกำลังช่วยชาวบ้านทำความสะอาดบ้านเรือนและถนนหนทาง ชาวบ้านวิงวอนขอให้ภาครัฐช่วยสร้างพนังกั้นไม่ให้น้ำท่วมอีก
จ.ลำปาง นายธนารัฐ สายเทพ นอภ.เมืองลำปาง ไปตรวจสอบเหตุกระแสน้ำในแม่น้ำตุ๋ยซัดสะพานขาด เป็นสะพานคอนกรีตเชื่อมต่อระหว่างบ้านปงท่าขัว กับบ้านท่าขัว ต.บ่อแฮ้ว เหตุเกิดเมื่อ คืนที่ผ่านมา กลางสะพานพังทลายลงไปเป็นทางยาวกว่า 20 เมตร ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ผญบ.และ อบต.บ่อแฮ้ว นำแผงเหล็กและกรวยจราจรมาปิดกั้นเส้นทางทั้งสองฝั่งพร้อมติดป้ายแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัย ส่วนที่ จ.แพร่ กรณีนายจีระวัฒน์ ถาฐาน อายุ 26 ปี หนุ่มกตัญญูชาวบ้านปากห้วยอ้อย หมู่ 5 ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง พยายามว่ายน้ำไปช่วยพ่อที่กำลังจะถูกน้ำท่วมบ้านสวน แต่ตัวเองถูกกระแสน้ำซัดร่างจมหายไปเมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 21 ส.ค. นาย สายัณห์ กาวีวงศ์ หน.ปภ.แพร่ ระดมกำลังออกค้นหา กระทั่งช่วงเย็นวันที่ 23 ส.ค.พบศพนายจีระวัฒน์ บริเวณริมตลิ่งห่างจากสะพานห้วยตั๊บประมาณ 1 กม. พนักงานสอบสวนร่วมกับแพทย์ชันสูตรศพแล้วมอบให้ญาตินำไปประกอบพิธีทางศาสนา
สถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนเพิ่มขึ้นเป็น 1,578 ลบ.ม.ต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน ระดับน้ำเหนือเขื่อนวัดได้ 15.87 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เขื่อนเจ้าพระยายังคงการระบายน้ำไว้ที่ 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัวที่ 12.83 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทั้งนี้กรมชลประทานมีแผนจะเพิ่มการระบายน้ำเพื่อรองรับมวลน้ำเหนือที่จะเพิ่มขึ้นไปที่ 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วงวันที่ 24-29 ส.ค. จะส่งผลให้พื้นที่ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลงไปถึง จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะสูงขึ้นอีก 80-100 ซม.ในช่วง 6 วันข้างหน้า ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยกของขึ้นที่สูง และติดตามประกาศจากทางการอย่างใกล้ชิด
ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีมวลน้ำจาก จ.เพชรบูรณ์ ไหลเข้ามากกว่า 268.16 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 23.169 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ปริมาณน้ำในอ่าง 490.13 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 51.06 จากความจุอ่าง ยังไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนสองฝั่งแม่น้ำ มีการระบายลงสู่ท้ายเขื่อน 400.02 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 34.561 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เตรียมพร้อมรับมือปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำไว้รองรับมวลน้ำขนาดใหญ่จากฝนที่ตกสะสมก่อนหน้านี้ ตามแผนบริหารจัดการน้ำที่กรมชลประทานกำหนด เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง ช่วงวันที่ 24-29 ส.ค. เวลา 17.00-20.30 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก คาดการณ์ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90-2.20 เมตรจากระดับน้ำ ทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) พื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที และติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์